facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ฝึกกระต่ายให้กินหญ้า ไม่ใช่เรื่องยาก ^^




ปัญหาเล็กๆ แต่ มันเป็นเรื่องใหญ่ .. คุณหมอช่วยด้วย  ทำไมกระต่าย หนูไม่ยอมกินหญ้า ..

ปัญหาโลกแตก ที่เจอกันได้บ่อยๆ คงเหมือนกับว่า ทำไมเด็กไม่กินผัก .. ข้อเท็จจริง มันมีอยู่ว่าเด็กไม่กินผัก เพราะพ่อแม่ ไม่สอนให้เด็กกินผัก ฉันใด เจ้าของกระต่าย ก็ไม่สอนให้กระต่ายเด็ก กินผักฉันนั้น ดังนั้นการที่กระต่ายจะกินหญ้าหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับช่วง ที่กระต่ายเป็นกระต่ายเด็ก และ กำลังจะหย่านมเปลี่ยนอาหารนั่นแหละครับ ... แต่ไม่เป็นไรครับ ถ้ากระต่ายของคุณเลยช่วงนั้นมาแล้ว เราก็ยังพอฝึกให้กินหญ้าได้ โดยเทคนิค ต่างๆ ดังต่อไปนี้นะครับ ^^ 


1.หาหญ้าหลากหลายชนิด มาให้กระต่ายได้ลองกิน เนื่องจากหญ้าแต่ละชนิดจะมีกลิ่น และ รสชาด ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชอบของกระต่าย ซึ่งหญ้าที่กระต่ายส่วนใหญ่จะชอบมากที่สุด คือ อัลฟาฟ่า ซึ่งถ้าหัดให้เริ่มกิน เป้นหญ้า อีกหนึ่งชนิด ที่ควรจะมีให้กระต่าย ได้ลองชิมด้วยครับ 

2.การวางหญ้า ในกรง ก็มีเทคนิค เช่นกัน เช่น ควรวางหญ้าให้ปริมาณอย่างน้อยเท่ากับ ครึ่งลำตัว และ ถ้าเป็นกระต่าย ควรวางหญ้ากับพื้นบางส่วน และ แขวนไว้ในรางใส่หญ้า และ บางส่วนใส่ในลูกบอลหวาย ก็ช่วยกระตุ้นได้ด้วยพฤติกรรมทางธรรมชาติ แต่ถ้าเป็น หนูแกสบี้ วางที่พื้น หรือ ใส่ชาม ได้เลยครับ 





3.บางครั้งการวางหญ้าไว้ตำแหน่งที่กระต่ายชอบไปใช้เวลาอยู่ ก็จะทำให้กระต่ายมีเวลาพิจารณาหญ้าที่เราวางไว้มากขึ้น เช่น บนกระบะฉี่ หรือแถวๆที่นอน โดยอาจจะทำเป็นเหมือนเบาะหรือปูไว้หนาๆ ให้กระต่ายได้นั่ง นอน  ก็ทำให้เกิดโอกาส ที่กระต่ายจะลองเล็ม หรือ ชิม มากขึ้นครับ 


4.การเปลี่ยนหญ้า อย่าเปลี่ยนบ่อยจนเกินไป ให้เปลี่ยนเมื่อ หญ้าสกปรก เช่นเปียกน้ำหรือ เปียกฉี่ และการที่เปลี่ยนหญ้าเร็วเกินไป จะเป็นการฝึกนิสัยไม่ดี ให้กระต่ายกินแต่ใบ ไม่กินต้นครับ 

5.การหลอกกระต่าย โดยการเอาอาหารที่กระต่ายชอบไปไว้ใต้กองหญ้า ให้กระต่ายได้คุ้ยเล่น หรือ การเอา ขนม(กระต่าย) หรือ อาหารเม็ด หรือผัก เช่น แครอทซอย  ที่กระต่ายมาชอบ มาบด และโรยไว้เหนือ กองหญ้า ที่ให้กระต่ายกิน ก็จะเป็นการหลอกให้กระต่ายกินหญ้าได้มากขึ้นครับ  กระต่ายบางตัวก็คงบอกว่า รู้เค้าหลอกแต่เต็มใจให้หลอก  555  ไม่ฮา สงสัยเกิด ไม่ทัน 

6.อีกขั้นตอนที่ช่วยได้ก็คือ การเพิ่ม รสชาติ ให้กับหญ้า เช่นการนำน้ำหวานที่เจือจาง /น้ำที่มีกลิ่น มาสเปรย์ พ่นไปในหญ้า ก็ช่วยกระตุ้น แต่ขั้นตอนนี้ต้องเฝ้าดุอย่างใกล้ชิดหน่อยนะครับเพราะอาจจะนำมดมาสู่กรงกระต่ายได้ นะครับ 

7.ขั้นตอนสุดท้าย คือ เพิ่มความชุ่มชื้น เพิ่มความหน้ากิน เช่น ถ้าหญ้าแห้งไม่กิน ก็ เปลี่ยนเป็นหญ้าสด แต่ระวังการเปลี่ยนอาหารที่เร็วเกินไป เช่นกัน ส่วนหญ้าแห้งก็เพิ่มความชุ่มชื้นได้ แต่วิธีการ อาจจะลำบากสักหน่อย เช่นการนำไปอบไอน้ำ คือการนึ่งหญ้า ในซึ้ง โดยขั้นตอนนี้ อาจจะใช้เวลาเพียงแค่เล็กน้อย โดยน้ำ ที่ใช้นึ่ง อาจจะใช้ น้ำผลไม้ผสมน้ำเปล่า เพื่อเพิ่ม รสชาติ และ กลิ่นให้ก็ได้ ซึ่งหญ้านึ่ง นอกจากจะ นิ่ม แล้ว ยังหอม อีกด้วย 

ขั้นตอนสุดท้าย .. สวดมนต์ ภาวนา ให้กระต่ายกินหญ้าครับ แต่ถ้าไม่กินหญ้าจริงๆ การเลือกอาหารเม็ด ที่มีคุณภาพ ก็พอจะช่วยได้บ้าง แต่ ผมบอกได้เลยว่า ไม่มีอาหารเม็ดชนิดใด แทนหญ้า ได้หรอกครับ  .... สุดท้ายขอฝากคำว่า  “ you are what you eat ”  การกินอาหารที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีนะครับ 


ด้วยความปราถนาดี   หมออ้อย 






วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

รักฉัน อย่าเลี้ยงฉัน ... รักนางอาย แน่ใจหรือ




รักผม อย่าเลี้ยงผม ผมเกิดในป่า บ้านของผมอยู่ในป่า ไม่ได้อยู่คอนโด ดวงตาของผม ไม่เหมาะกับแสงไฟในเมือง มันแสบตา จนผมต้องเอามือปิดตาไว้ ในเมืองผมเคลื่อนที่ได้ช้า แต่ในป่า ผมจะเคลื่อนที่ได้ไว

ในเมืองมีแต่คนบอกว่าผมน่ารัก แต่ผมว่า ผมอยู่ในป่าผมน่ารักกว่า ฟันของผมคม เพราะผมไม่ได้กินกล้วย เหมือนอยู่ในเมือง ผมกิน สัตว์ตัวเล็กๆ กิน แมลง กินผลไม้บ้างเป็นบางคราว

อย่าตัดฟันผม เพราะว่ากลัวผมกัด ผมเจ็บ ผมปวด หลังจากตัดฟัน ผมแทบกินอาหารไม่ได้ ผมกัดของแข็งๆ ไม่ได้ บางครั้งเกิดฝีที่รากฟันของผม ผมผอมลง ผมป่วย เพราะผมกินอาหารไม่ได้ ผมไม่สวย ไม่น่ารักเหมือน เมื่อก่อน คุณก็ทิ้งผมไป ปล่อยให้ผมตาย ไม่รักษาผม

รักผมอย่าฆ่าผม โดยการนำผมมาเลี้ยง หยุดฆ่าแม่ผม แม่ผมต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปกป้องผม แต่ก็ไม่พ้นเงื้อมมือ สัตว์ประเสริฐ ที่ได้ชื่อว่ามนุนย์ เพียงเพราะอยากได้ผม ผมอยากอยู่กับแม่ในป่า อยากมีชีวิตเหมือนนางอายตัวอื่นๆ แต่ถ้าคุณได้ผมมาแล้ว ด้วยความตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจ โปรดเลี้ยงผมให้ดี ดูแลผม และ รักผม จนกว่า เราตายจากกัน ..... ขอพูดแทน เสียงเล็กๆจากนางอาย


ฟันที่โดนตัด และเกิดการติดเชื้อ(ฟันเปลี่ยนสี)

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผิวหนังอักเสบในสัตว์เลี้ยง เรื่อง (ที่ไม่) เล็ก






ผิวหนังอักเสบ  (Bacterial Dermatitis) คำนี้เป็นคำกว้างๆที่ใช้บ่งบอกถึงภาวะการติดเชื้อที่ผิวหนัง ถ้าในสุนัขหรือแมวก็คงเข้าใจง่าย แต่ในสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่า งู กิ้งก่า อาจจะฟังดูแปลก แต่ก็สามารถเป็นได้เช่นเดียวกันครับ  ซึ่งสาเหตุโน้มนำที่ทำให้เกิดโรคได้แก่ สัตว์เลี้ยงที่ยังอายุน้อย หรือ ไม่ก็อายุมาก ครับ สัตว์เลี้ยงวัยรุ่น มักจะไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่หรอกครับ ยกเว้นจะเลี้ยงแบบผิดๆ ครับ

โดยปกติแล้วโรคนี้มักไม่ค่อยเป็นเองเท่าไหร่ และ มักจะไม่เกิดขึ้นเอง แต่เมื่อเรานำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยง และ อาจจะจัดการพื้นที่เลี้ยงไม่ดี เช่น ชื้นเกินไป (ในสัตว์ที่มาจากแถบภูมิอากาศร้อน และ แห้งแล้ง) การเลี้ยงสัตว์หนาแน่นเกินไป การจัดการสุขอนามัยกรงเลี้ยงไม่ดี ขี้เยี่ยว เปรอะพื่นเต็มไปหมด การใช้วัสดุปูรองไม่เหมาะสมและไม่ค่อยเปลี่ยน เช่นใช้กระดาษแต่ไม่ยอมเปลี่ยนเลย ปล่อยให้เปียกฉี่ แล้ว แห้งเอง แล้ว เปียกฉี่ ซ้ำไปมา การใช้หญ้าปูรอง ซึ่งก็ไม่เคย จะเอาหญ้า มาตากแดด เพื่อกำจัดเชื้อโรค เลย ด้านบนดูดี แต่ด้านล่าง อาจจะมีรา ขึ้นก็ได้ (ประสบการณ์ ตรงตอนเริ่มหัดเลี้ยงใหม่ๆ แล้ว อยู่ในช่วงสอบ 555 ) การที่พื้นที่เลี้ยง อับชื้น ไม่มีแสงแดดส่องถึง กรงเลี้ยง ไม่เหมาะสม การเกิด บาดแผล แล้วโน้มนำทำให้เกิด การติดเชื้อแทรกซ้อน การที่สัตว์เลี้ยงได้สารอาหารไม่ครบถ้วน ทำให้อ่อนแอ  หรือการเป็นโรคอื่นๆ รวมถึงการติดเชื้อราที่ผิวหนังด้วย และสุดท้าย  เต่า ,งู , กิ้งก่า ที่จับมาจากธรรมชาติ แล้ว ไม่สามารถปรับตัวให้เข้าที่เลี้ยงได้ ก็สามารถทำให้เกิดภาวะเครียด ภูมิตก ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกเยอะครับ นี่แค่ยกตัวอย่าง !!!

ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง 

อาการที่ว่าผิวหนังอักเสบเป็นยังไง ยกตัวอย่างเช่นในเต่านะครับ  เราก็จะเห็นผิวหนังบริเวณ ซอกขาหน้า ขาหลัง หรือ ซอกพับทั้งหลาย รวมถึง ข้างคอ ใต้คอ เกิดตุ่มๆ เหลืองๆ ขึ้นมา นั่นแหละครับ บางทีเกิดขึ้นมา แล้วแผลก็แห้ง แล้ว บางทีก็จะหลุดออกเป็นหลุม แล้วก็เกิดใหม่ ปริมาณมากขึ้น ในช่วงแรก สัตว์อาจจะปกติ ไม่แสดงอาการอะไรเป็นเดือน แต่ถ้าเป็นมาก จนเกิดการติดเชื้อไปทั่วตัว หรือ ติดเชื้อ เข้ากระแสเลือด เมื่อไหร่ สัตว์ก็จะเริ่มซึม ไม่กิน อาหาร ทีนี้ละครับ งานเข้า ทั้งหมอ ทั้งเต่า 
เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อโรคมันก็สามารถไปได้ทุกที่ ที่เลือดไปเลี้ยงถึง ไม่ใช่แค่ว่า เห็นรอยโรคที่ผิวหนัง ก็จะติดเชื้ออยู่แค่นั้นนะครับ เชื้อมันสามารถไปได้ ทั้ง ตับ ไต หัวใจ ไส้ พุง เลยละครับ บางตัวแย่หน่อยไปที่กระดอง ก็จะพบปัญหา รอยจ้ำแดงๆ ที่กระดอง โดยเฉพาะ ด้านใต้กระดองที่บางๆ ตำแหน่งนี้จะเห็นชัดครับ หรือ บางที ไปที่สมอง ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาทางระบบประสาท เกิดเยื่อหุ้มสมอง อักเสบ และ อื่นๆ ตามมาครับ .... ปัญหาคือ เมื่อเกิดแล้วการพยากรณ์ โรค ไม่ดีเลยครับ 
พบจ้ำเลือดออกใต้กระดอง
ในงู หรือ กิ้งก่า ก็จะพบว่า ผิวหนัง หรือ เกล็ด มีลักษณะที่ผิดปกติไป มีจ้ำแดงๆ มีรอยถลอก มีแผลหลุม มีตุ่มน้ำขึ้น  นั่นก็คือ กลุ่ม อาการของโรคติดเชื้อที่ผิวหนังเหมือนกันครับ แต่ถ้าเอาชื่อเฉพาะ เช่นในงู บางทีเราก็เรียกว่า Blister disease 

ซึ่งเจ้าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ว่านี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบคทีเรียในกลุ่ม แกรมลบ  เช่น Pseudomonas spp., Aeromonas spp., และอื่นๆอีก เช่น Proteus , Serratia  ถ้าเราเคยเรียนเกี่ยวกับแบคทีเรียมาบ้าง แค่ได้ยินชื่อ Psedomonas  ก็หนาวๆกันแล้วครับ เพราะเป็นเชื้อที่ดื้อยาง่าย และ ตายยาก ... เหมือนกับ ..... ไม่มีผิด ใส่คำตอบในช่องว่างเอาเองนะครับ 555 


ผิวหนังพุพองเป็นตุ่มน้ำ
คราวนี้การรักษา ก็คือ หาสาเหตุ และก็ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม รวมถึงการให้ยาปฎิชีวนะ ทั้งในรูปแบบ ฉีด กิน ทา แช่ แล้วแต่ว่าเป็นสัตว์อะไร และ อาการรุนแรงแค่ไหนครับ  รวมถึงหมอก็จะบอกให้ เจ้าของ ไป แช่น้ำ กกไฟ ตากแดด ( เคยเขียนไปแล้วครับ ลองหาอ่านดู) บางคนก็งง เป็นผิวหนังทำไมให้แช่น้ำ ไม่ยิ่งชื้นเหรอก็ไม่ต้องแช่นานก็ได้ครับ หรือ บางทีถ้าเป็นมาก หมอก็จะให้น้ำโดยวิธีอื่น เช่น ป้อนเอา หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ช่องว่างลำตัว และถ้าแช่น้ำ ก็ให้เช็ดตัวให้แห้ง ก่อนที่จะเอาลงกล่องเลี้ยงครับ 

การรักษาเราจะแบ่งเป้าหมายออกเป็น
1 ทำให้สัตว์เลี้ยงสามารถรอดชีวิตจากอาการที่วิกฤตก่อน ถ้าสัตว์เลี้ยงมีอาการอ่อนแรง 
2.รักษาตามอาการ เช่น อาจจะมีการขูดหนอง เอาไปเพาะเชื้อ เพื่อหายาที่เหมาะสม ฉีดยา ทายา ตามที่เล่าไปแล้ว
3.การปรับการเลี้ยงดู เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นใหม่

ทั้งสามขั้นตอน ฟังดูเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยการร่วมมือกัน ทั้งเจ้าของ และ สัตวแพทย์ครับ


สิ่งที่ผมอยากเตือนใจก็คือ เนื่องจากแบคทีเรียที่กล่าวมานั้น เป็นแบคทีเรีย ที่ ดื้อยาง่ายมาก การให้ยา ถ้าเจ้าของให้ยาเอง แต่ ไม่ถูกโดส ระยะเวลารักษาไม่ต่อเนื่องและไม่ยาวนานเพียงพอ ก็อาจจะทำให้เชื้อดื้อ ยาได้ง่าย การรักษาต่อไปก็คือ การ เปลี่ยนยา ที่แรงขึ้น แรงขึ้น ... จนในที่สุด อาจจะไม่มียาให้ใช้ และถ้า เมื่อไหร่ เชื้อดื้อยา นี้เกิดติดขึ้นมาในคน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ลูก หลาน ที่ไปจับตัวสัตว์เล่น หรือ เชื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม .... ไม่อยากจะคิดครับ ว่าเหตุการณืจะเป็นอย่างไร 

หวังว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย รู้ไว้ใช่ว่าครับ
ด้วยความปราถนาดี น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล (หมออ้อย)









ทำไมหมอชอบให้ แช่น้ำ กับ ตากแดด กกไฟ ในเต่าป่วย ??






วลาสัตว์ป่วย ทำไมสัตวแพทย์ถึงแนะนำให้ เปิดไฟ กก / ตากแกก และ แช่น้ำ  ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ อยากให้กลับไปอ่านบทความ ก่อนที่ผม เขียนไว้ Light and Heat (ตาม Link  https://www.facebook.com/photo.php?fbid=541742325875043&set=a.372986846083926.83753.217315514984394&type=1&theater ) ก่อนนะครับ คราวนี้ เวลา เต่าป่วย  ทำไมหมอ ชอบบอกว่าให้ไป แช่น้ำ กับ กกไฟ หรือ ตากแดด ก็ตามแต่ บทความที่แล้วผมพูดถึงอุณหภูมิไปแล้วครับ ว่ามีผลอย่างไร
ขอพูดสั้นๆ อีกครั้งว่า เมื่ออุณหภูมิ สัตว์สูงขึ้น กระบวนการ เมตตาบอลึซึ่ม ก็จะเพิ่มสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว การสูบฉีด เลือดดีขึ้น กระบวนการต่อต้านเชื้อโรคในร่างกายดีขึ้น .. และที่สำคัญ ทำให้ยาที่ให้ไป กระจายไปในร่างกายรวมถึงการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายดีขึ้น  และ ในธรรมชาติ เมื่อสัตว์เลื้อยคลานป่วย สัตว์เลื้อยคลานก็จะ พยายาม ออกมาตากแดด เพื่อเพิ่ม อุณหภูมิร่างกายตัวเอง เราเรียกกระบวนนี้ว่า  behavior fever   ซึ่งการที่สัตวแพทย์ แนะนำให้ กกไฟ ก็เพื่อ เลียนแบบ พฤติกรรม ทางธรรมชาติ นั่นเอง ... ในกรณีนี้ สัตวแพทย์ ต้องการเพียงความร้อน ไม่ใช่ แสง นะครับ แต่ถ้าสามารถ ให้แสงที่ มี full  spectrum ด้วยก็ยิ่งดี แต่ผมขอบอกว่า การเกิดโรค MBD ไม่ใช่เกิดภายใน 1-2 อาทิตย์ หรอกนะครับ  

รูปภาพแสดงการกกไฟ 
ทำไมหมอสั่งให้แช่น้ำ...จะกกไฟหรือ จะให้แช่น้ำ บางทีเจ้าของอาจจะงง .. เต่าบกทำไมต้องแช่น้ำด้วย  การที่หมอบอกให้เจ้าของเต่าแช่น้ำ เนื่องจากว่า ในกรณี ที่เต่าป่วย เต่าจะทานอาหาร และ ทานน้ำได้น้อยลง  และ การกกไฟ เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เต่า เกิดการสูญเสียน้ำ ไปในระดับหนึ่ง การแช่น้ำ ก็เพื่อช่วยให้ เต่าได้รับน้ำเพิ่มขึ้น เข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่างทางการกิน เข้าไป หรือ ดูดซึมผ่านทาง ทวารรวม (cloaca) นั่นเอง เพื่อไม่ให้เต่าเกิดภาวะขาดน้ำ และ แห้งน้ำจนเกินไป หมอจึงบอกให้แช่น้ำ และ ก็ไม่ใช่ แช่จนนานเกินไป  และ ใช้น้ำที่สูงจนเกินไป จนเต่าจมน้ำ  และ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ กระตุ้นให้มีการขับถ่าย ด้วยครับ 

          ทำไมหมอสั่งให้ตากแดด .. อาจจะเพราะว่า เต่าของเจ้าของอาจจะเริ่มภาวะ เป็นโรค MBD ซึ่งการเลี้ยงที่ผิดวิธี ทำให้เต่าขาดรังสี UV-B เช่นเลี้ยงริมหน้าต่าง แต่อยู่ในตู้กระจก หรือ ไม่เคยโดนแสงแดดเลย ก็อาจจะทำให้ เต่าป่วยเป็นโรคนี้ได้ โดยอาการ เช่น กระดองนิ่ม กระดองผิดรูป และอื่นๆ 

ข้อควรระวัง ในการตากแดด กกไฟ และ แช่น้ำคือ ในกรณีที่ สัตว์ป่วยมาก จะต้องระมัดระวัง อย่างมากนะครับ เนื่องจาก เต่าจะไม่เดินหลบร้อน อาจจะทำให้เต่า ร้อนตายได้ และ การแช่น้ำ ถ้าใช้น้ำที่สูงจนเกินไป อาจจะทำให้เต่าจมน้ำ ตายได้นะครับ ดังนั้นจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

         หวังว่าบทความนี้พอจะไขข้อข้องใจได้้บ้าง นะครับ .... ทุกอย่างมันมีเหตุผล ครับ เพียงแต่จะเข้าใจเหตุผล ที่ซ่อนไว้ใน ข้อแนะนำหรือไม่เท่านั้น ...  สุดท้าย อย่าเชื่อ ทุกสิ่งที่ผมพูด แต่ขอให้ใช้ วิจารณญาณ ในการไตร่ตรอง ก่อนที่จะเชื่อนะครับ  เพราะความรู้มีการเปลี่ยนแปลงเสมอครับ 

ด้วยความปราถนาดี   น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล (หมออ้อย)







วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความรู้พื้นฐาน สำหรับคนเลี้ยงเต่า ตอน แสง และ ความร้อน





การเลี้ยงเต่า กับ ไฟกก จำเป็นหรือไม่  จริงๆแล้ว ถ้าพูดถึงเบสิคการเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน ต้องบอกว่ามีสิ่งที่เป็น เบสิค ที่ต้องรู้ ก็คือ  ความร้อน แสง  ความชื้น ที่อยู่อาศัย และอาหาร  แต่วันนี้ผมจะขอพูดถึง 2 อย่างที่เกี่ยวข้องกันจนแทบจะแยกกันไม่ออก นั่นก็คือ แสง และ ความร้อน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าสัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่า เป็นสัตว์ที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อม (Ectothemic) นั่นหมายความว่า ถ้าอุณหภูมิภายนอกเย็น อุณหภูมิตัวสัตว์ก็จะเย็นตามไปด้วย ครับ  ถ้าอุณหภูมิภายนอกร้อน ตัวสัตว์ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยครับ 

อุณหภูมิ มีผลอะไรกับตัวสัตว์ เมื่ออุณหภูมิ สูงขึ้น(สูงกว่าปกติ แต่อยู่ในช่วงที่สัตว์สามารถปรับตัวได้ )  การทำงานของร่างกายก็จะมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น เลือดสูบฉีดไปส่วนต่างๆของร่างกายมากขึ้น กระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันก็จะเพิ่มมากขึ้น  

แสง มีผลอะไรกับตัวสัตว์ แสงก็จะมาพร้อมกับ รังสีต่างๆ แต่รังสีที่มีผลกับตัวสัตว์ คือ รังสี UV-A  และ UV-B แล้วเราจะหารังสีนี้มาจากไหน และ แหล่งพลังงานจากไหน ดีที่สุด ตอบง่ายๆ คือ จากดวงอาทิตย์ นี่แหละครับดีที่สุด ซึ่งมีครบทั้ง รังสี UV-A , UV-B , และความร้อน  
UV-A  นี่จะมีผลกับการดำรงชีวิต เช่น การแสดงออกของพฤติกรรมต่างๆ  และ การสืบพันธ์  ซึ่ง รังสีนี้พบได้ทั่วไปจากชีวิต ประจำวัน เช่น แสงจากหลอดฟลูโอเรสเซ้นต์ทั่วๆไป และ หลอดไฟชนิดอื่นๆ  
UV-B สำหรับสัตว์เลื้อยคลานโดยส่วนใหญ่จำเป็นครับ โดยเฉพาะในเต่า และ กิ้งก่า เพราะว่ารังสี UV-B สามารถ เปลี่ยนวิตามิน D ที่บริเวณผิวหนังให้กลายเป็น  วิตามิน D3   ช่วยให้มีการดูดซึมแคลเซี่ยม ในลำไส้ได้ และ ป้องกันการเกิด โรค metabolic bone disease หรือ MBD ที่พูดถึงกันบ่อยๆ  และ รังสี UV-B นี้สามารถ หาได้จากแสงอาทิตย์ และ หลอด UV แบบ full spectrum เท่านั้น ซึ่งข้อจำกัด คือ รังสี UV-B สามารถผ่านกระจกได้น้อยมาก ซึ่งเกือบจะสะท้อนกลับหมด  และ หลอดที่ผลิต รังสี UV-B ได้นั้น ก้มีอายุการใช้งานที่สั้น แค่ 6-12 เดือน ขึ้นกับการเปิดใช้งาน และ คุณภาพของหลอด 

จากที่ผมเล่าไปคร่าวๆ นั้น แสงที่ดีที่สุด คือ แสงที่มาจาก ดวงอาทิตย์ แต่ ถ้า เจ้าของไม่สะดวก นำเต่าไปตากแดด หรือ ที่เลี้ยงไม่มีแดด เช่น คอนโด หรือ ห้องนั่งเล่น ทางออกที่ดี ก็คือ การหาแหล่ง ของแสงเทียม นั่นก็คือ จากหลอดไฟ  แล้ว ความร้อนที่ดีที่สุดล่ะ ?? ในความคิดของผม ไม่จำเป็นต้องจากดวงอาทิตย์ก็ได้ เพราะเราไม่สามารถ ควบคุมความร้อนได้ แต่จากหลอดไฟ เราสามารถควบคุมความร้อนได้  ... ต้องตั้งคำถามให้ตัวเองครับ ว่าคุณต้องการ แสง หรือ ความร้อน เวลาคุณ กกไฟ ??? 

ด้วยความปราถนาดี น.สพ.เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล (หมออ้อย)

วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หยุดฆ่ากระต่ายด้วย ยาหยดหลัง

ยาหยดหลังดังภาพ ห้ามใช้ในกระต่ายนะครับ 

หยุด ฆ่า กระต่าย ด้วยความไม่รู้ .... ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี ก็ยังเกิดเหตุการณ์ เช่นนี้อยู่  การใช้ยาหยดหลัง เพื่อป้องกัน เห็บหมัด หรือ ไร ชนิดต่างๆ นั้น สามารถทำได้ แต่การรักษาด้วยตัวเองนั้น เจ้าของควรจะ้องมีความระมัดระวัง ถึงการเลือกใช้ยาด้วยนะครับ ยาที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาด คือ Fipronil ซึ่งบ้านเรามีหลายยี่ห้อ จะไม่ขอพูดชื่อ ยี่ห้อนะครับ เพราะตายเหมือนกันหมด !!!  และ ยาขวดแก้ว สีชา ซึ่ง หนักกว่าอีก เพราะเป็นยาเถื่อน !!! ไม่มีแม้แต่ชื่อสารออกฤทธิ์ ซึ่งปัจจุบัน มีออกมามากมายหลายแบบ ราคา 50-100 บาท ซื้อ เยอะ แถมอีกต่างหาก ขนาดในสุนัข ยาเถื่อนตัว้ ยังทำให้สุนัข ตายมาแล้วไม่รู้กี่ตัว กระต่ายน้อย ซึ่งแสนจะบอบบางจะไปเหลือเหรอครับ?    ซึ่งตัวยาออกฤทธิ์ เหล่านี้ สามารถทำอันตรายกับกระต่ายได้ คือ กระต่ายจะมีการ ดังต่อไปนี้ 

     เมื่อกระต่ายได้รับยาไปแล้ว จะมีอาการ ซึม เบื่อ อาหาร และ หลังจากนั้น อาจจะ 1-3 วัน หลังได้รับยา กระต่าย จะมีอาการ ชัก และ จะ ชัก รุนแรง ขึ้นเรื่อยๆ และ สุดท้าย ก็จะตายลง อย่าง ทรมาณ!!!  

    การรักษา ที่พอจะทำได้เอง เมื่อได้ทำการหยอดยาบเวณหลังไปแล้ว ในตำแหน่งที่กระต่ายเลียไม่ถึง นั่นคือ บริเวณหลังคอ จะทำให้ยาถูกจำกัดอยู่บริเวณนั้น โดยจะค่อยๆ ดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังบริเวณนั้น แต่ ถ้าหยอด ผิดตำแหน่ง และกระต่ายเลีย กินเ้าไป หรือ อักตัวช่วยเลียก็จะยิ่งอันตราย มากขึ้นไปตามปริมาณยาที่ได้รับ หลักการรักษามี 3  อย่าง 
1.ลดปริมาณการดูดซึม 
2.เพิ่มการขับยาออก 
3.ควบคุมอาการชัก และ รักษาตามอาการ 

การลดปริมาณการดูดซึม สามารถทำได้โดยการทำการล้างบริเวณที่หยอดออกให้ได้มากที่สุด โดยการใช้แชมพูของลูกสุนัข หรือ แชมพูเด็ก ก็ได้เพื่อเอายาที่ยังคงเหลือ อยู่ออกให้ได้มากที่สุด และหลังจากล้างแล้ว ต้องเป่าตัวให้แห้ง และระวังกระต่ายจะอุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไป ครับ 

เพิ่มการขับออก วิธีคงต้องพึ่งสัตวแพทย์ครับ โดยวิธีที่ทำได้ก้คือ การให้สารน้ำ เช่นน้ำเกลือ ในช่องทางต่างๆ เช่นการให้เข้าเส้นเลือด การให้เข้าใต้ผิวหนัง หรือ แม้แต่การป้อนน้ำ ก็ช่วยได้เช่นกันครับ 

การควบคุมการชัก นั่นหมายถึงระยะที่อันตรายที่สุดเพราะยาได้เข้าสู่กระแสเลือดในขนาดที่ทำให้กระต่ายชักได้ และ อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจะะต้องให้ยา ระงับอาการชัก ให้ ออกซิเจน และ ให้สารอาหาร ผ่านทาง สายยางในกรณี ไม่กินเลย แต่ถ้ายังกินอยู่ อาจจะใช้การป้อน อาหารกระต่ายป่วย เช่น คริติคอล แคร์  ครับ 

การพยากรณ์ โรค ต้องบอกว่า เลวร้าย มากเชียวล่ะครับ ถ้าโชคดี หยอดไปไม่มาก ไม่ได้หยิด ทีเดียวหมด หลอด หรือ หมดขวด โอกาสรอดก้มีเยอะหน่อย เพราะตัวยาอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าหมด หลอด ก็ เหนื่อยหน่อยครับ แต่ถ้ายิ่งรู้อาการเร็ว พบสัตวแพทย์เร็ว ก็อาจจะเพิ่มโอกาสรอดได้ครับ 

หวังว่าบทความนี้ คงช่วยกระต่ายได้ ไม่มาก็น้อย ช่วยกันส่งต่อให้กับผู้ที่เริ่มเลี้ยงกระต่าย ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ครับ 

หมออ้อย

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำหมันกระต่ายตัวเมีย ดีไหม (Uterine adenocarcinoma)




กระต่ายตัวเมียที่ไม่ได้ทำหมัน มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งสูงมาก ถึง 70-80 % ในกระต่ายที่อายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป โดยมักจะเป็นมะเร็ง ในกลุ่ม adenocarcinoma ( มะเร็งร้าย )

อาการของกระต่ายที่เป็นโรคนี้้ได้แก่ 
1.มีปัสสาวะเป็นเลือด / เลือดออกจากมดลูก  เกิดจาก เส้นเลือดในมดลูก แตกออก และ ทำให้เลือดไหล ออกมา บางทีออกมาพร้อมกับปัสสาวะ หรือ ไหลออกมาเป็นเลือดสดๆ ก็ได้

2.พฤติกรรมเปลี่ยน หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว (ผลจากฮอร์โมน ที่ผิดปกติไป)

3.มีอาการท้องเทียมบ่อยๆ เต้านมขยาย และ อาจจะมี ถุงน้ำ (Cyst) บริเวณ เต้านม

4.มีอาการช่องท้องขยายใหญ่ผิดปกติ และ กระต่ายผอม เนื่องจากเมื่อมดลูกขยาย อาจจะทำให้ก้อนเนื้องอกโต เต็มช่องท้อง และ ไปเบียด อวัยวะอื่นๆ เช่นลำไส้ ตับ ไต ม้าม ครับ

5.ซึมเบื่ออาหาร นี้เป็นอาการที่ไม่จำเพาะ เพราะไม่ว่าเป็นอะไร ก็จะมีอาการนี้ ร่วมด้วยทุกครั้ง ซึ่งถ้าพบอาการซึม ไม่กินอาหาร ก็จะต้องหาสาเหตุ ก่อนครับว่าเกิดจากอะไร .. เพราะปัญหาที่ผมตอบ ไม่ได้ก็คือ ว่า ซึม ต้องให้ยาอะไร ซึมเป็นอะไร ... เพราะทุกโรคมันซึมหมด และ แต่ละโรคก็รักษาไม่เหมือนกันครับ

6.ไม่มีอาการ ... จริงๆครับ ไม่มีอาการ ในกระต่ายที่ผมได้ทำหมัน บางตัว ปกติดีทุกอย่าง แค่มาทำหมัน แต่ขณะผ่าไปก็พบว่า มดลูก เริ่มจะอาการผิดปกติ เพียงแต่ยังไม่แสดง อาการเท่านั้นครับ


การวินิจฉัย  สามารถทำได้โดยการ ซักประวัติ ดูอาการ การคลำตรวจช่องท้อง การถ่ายภาพรังสี และ การอัลตร้าซาวด์  ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น และ ความชำนาญของสัตวแพทย์ ครับ

มะเร็งมดลูก 
การรักษาโรคนี้ และ การป้องกัน มีวิธีเดียวคือ  การผ่าตัดทำหมันครับ  ..

การพยากรณ์ หลังจากวินิจฉัย ถ้าพบว่า มะเร็งไม่ลูกลาม และ สามารถผ่าตัดเลาะก้อนเนื้อ ออกได้หมด การพยากรณ์ จะดี แต่ ถ้ามีการลาม ของก้อนเนื้อไปยังอวัยวะ ข้างเคียง หรือ ปอดแล้ว อาจจะต้อง คอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และ พยากรณ์ ไม่ดีนัก โดยส่วนใหญ่ ในกรณีเนื้องอกลุกลามไปที่ ปอด มักจะพบว่า กระต่ายมักเสียชีวิต หลัง วินิฉัยได้ 2 ปี 
เนื้อเยื่อที่กลายเปฌนมะเร็งทั้งหมด ในมดลูก 

ดังนั้นถ้าเราต้องการให้กระต่ายมีอายุยืนยาว ก็แนะนำให้ทำหมันครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหมันก่อนอายุ 2 ปี จะลดความเสี่ยงได้เยอะ และกระต่ายก็แข็งแรง แผลหายเร็ว และ ไขมันในช่องท้องก็น้อย ทำให้ง่ายต่อการผ่าตัด ...

ด้วยความปราถนาดี  น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล




ก้อนเนื้องอก ของมดลูก 



วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คิดก่อนเลี้ยง "ความรักของคนเลี้ยง และ ความสุขของกระต่าย"




วันนี้นั่งในห้องทำงาน ฝนตกเบาๆ ฟังเพลงเพราะๆ แล้วเกิดอารมณ์อยากเขีบนบทความ ว่าด้วยเรื่องของความรัก และกระต่าย ก็เลยจับมารวมกัน ..  เป็นความรักของผู้เลี้ยง และ ความสุขของกระต่าย .. ทำยังไงให้กระต่ายมีความสุขและ อายุยืนยาว ไม่ตายตั้งแต่เลี้ยงได้ 3 วัน อ่านเล่นๆ ในวันฝนตกแล้วกันนะครับ  การที่เราจะทำให้กระต่ายมีความสุข มีไม่กี่ปัจจัยหรอกครับ ผมอยากจะสรุปว่า มีอยู่ 3 ปัจจัยหลักๆ ก็คือ 


1.ต้องดูความพร้อมของตัวเองก่อนว่าพร้อมที่จะรับใครเข้ามาในชีวิตรึเปล่า จริงๆอาจจะต้องคิดหนักกว่าการที่จะมีแฟนสักคนอีกนะครับ บางทีการคบแฟน 5-6 ปี ก็มีเลิก แต่เลี้ยงกระต่ายบางที อาจจะต้องดูแลกันไปเป็น  10 ปี นะครับ 

2.ศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะเลี้ยงกระต่าย การที่เราจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักตัว ไม่ใช่ว่าอยากจะเลี้ยงก็เดินออกไปซื้อมาเลยนะครับ ต้องศึกษาก่อนว่าสัตว์เลี้ยงที่เราจะเลี้ยงนั้น มันคือตัวอะไร กินอาหารแบบไหน อยู่ยังไง เหมือนการมีแฟน ต้องทำการศึกษาซึ่งกันและกันก่อนที่จะตัดสินใจคบกัน ไม่ใช่เดินเจอถูกใจก็ชี้จะเอายังงี้ อันนี้ไม่ถูกต้อง 

3.อยู่กับเจ้าของที่รักและเอาใจใส่กระต่าย จริงๆแล้วข้อนี้แทบจะรวมทุกข้อไว้ด้วยกัน เพราะคำว่ารักและเอาใจใส่ นั้นมันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวของเค้า กระต่ายเจ็บป่วยเล็กน้อย กินอาหารน้อยลงไปนิดหน่อย อึเล็กไปเล็กน้อย ไม่ร่าเริง ซึม ถ้าเป็นคนที่สนใจรายละเอียด แค่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ก็สามารถทราบได้ และ พาไปพบสัตวแพทย์ได้ทันเวลาก่อนที่สัตว์เลี้ยงจะเป็นหนัก  นอกจากจะรักและเอาใจใส่แล้ว ยังมีเวลาให้กันด้วย สัตว์เลี้ยง ชื่อก็บอกแล้วครับว่าสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่เครื่องประดับ ที่จะซื้อมาแล้วเอาไว้แค่ดู การที่เรามีเวลาให้กัน จะทำให้เราเข้าใจในตัวตนที่เค้าเป็น เข้าใจซึ่งกันและกัน  เปรียบได้กับการมีแฟน หรือ ครอบครัว การที่มีเวลาให้กัน มันจะทำให้ต่างเข้าอกเข้าใจกัน มีเวลาปรับทุกด้วยกัน มีเวลาสุขด้วยกัน มีความทรงจำดีด้วยๆกัน ห่วงกัน เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน 

อยากจะขอฝากไปถึงผุ้เรื่มเลี้ยงใหม่ ที่อาจจะข้ามขั้นตอน ข้อ 1  และ ข้อ 2 ไปแล้ว แต่ ข้อที่สำคัญ เเละเริ่มทำได้ทุกวันนั้นคือ ข้อ 3  ครับ เริ่มวันนี้ เเล้วคุณจะรู้ว่า สัตว์เลี้ยงของเราน่ารักไม่แพ้ตัวใดในโลก สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก ไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีราคาแพง ขอแค่คุณรักเค้าก็พอครับ ....




ด้วยความปราถนาดี  เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล


วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โรคฝ่าเท้าอักเสบ มันเกิดได้อย่างไรหนอ ??

โรคฝ่าเท้าอักเสบ (Pododermatitis,Sore hock)

โรคฝ่าเท้าอักเสบ ระยะสุดท้าย 

โรคฝ่าเท้าอักเสบ ระยะที่ 1

โรคฝ่าเท้าอักเสบ ระยะที่ 2
คิดว่าคนที่เลี้ยงกระต่าย น่าจะพอ คุ้นๆ กับโรคนี้อยู่บ้างนะครับ โรคนี้ถ้าจะเปรียบเทียบให้ฟังดูง่ายก็คือ โรคแผลกดทับ นั่นแหละครับ เพียงแต่ว่า มันเกิดแผลกดทับที่่ฝ่าเท้า โดยเฉพาะ ใน กระต่าย และ หนู แกสบี้ ที่จะพบได้บ่่อย ถามว่าทำไมเกิดได้บ่อย และ เกิด จากสาเหตุอะไร ? อันดับแรกคงต้อง อธิบายก่อนครับ ว่า ฝ่าเท้ากระต่าย ไม่ได้มีผิวหนังที่อ่อนนุ่ม เหมือนในสุนัข แต่เป็น ผิวหนัง ที่ห่อหุ้มกระดูกเท้า และมี ขน เป็นสิ่งปกคลุม .. แค่นั้นครับ 




สาเหตุที่โน้มนำทำให้เกิด โรคฝ่าเท้าในกระต่ายหลักแล้วก็คือ 
1.สายพันธุ์ กระต่าย เช่น กระต่ายสายพันธุ์ Rex,Mini Rex หรือ ลูกครึ่งของพันธุ์ นี้ เนื่องจากขนที่ละเอียด สั้น และ บาง โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้า ทำให้ฝ่าเท้า เสียดสีกับพื้น มากเกินไป จนทำให้เกิด เท้าด้าน และ เป็นแผลตามาครับ 



2.การที่ให้กระต่าย อยู่แต่ในกรงเป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะกรง ที่มีขนาดเล็ก และ พื้นกรง มีเส้นลวด ขนาดเล็ก กรงที่มีขนาดเล็กจะทำให้กระต่ายไม่ค่อยได้ขยับตัว จะทำให้แรงกดที่เท้า ลงน้ำหนัก ที่จุดๆเดียวนานๆ ก็จะทำให้เกิดผิวหนังขาดเลือดมาเลี้ยงทำให้ผิวหนังอ่อนแอ และ เกิดบาดแผล ติดเชื้อได้ง่ายครับ ส่วน พื้นกรง ที่เป็นซี่ลวดที่มีขนาดเล็กเกินไป ก็จะทำให้เกิด แรงกด แรง เค้น ที่ฝ่าเท้า เยอะกว่าปกติ กระต่ายไม่ได้ฝึกความอดทนเหมือนโยคี ทำไมต้องให้กระต่าย ยืนบนลวด จริิงมั้ยครับ ^^ 

3.กรงสกปรก นี่คือสาเหตุ ที่พบได้เป็นประจำคือ กรงเลี้ยงสกปรก และเจ้าของลืมทำความสะอาดบ่อย ทำให้กระต่ายเหยียบ อึ เหยียบฉี่ ทำให้ขนเปียก และ เกิด ผิวหนังอักเสบตามมา หลังจากนั้น ขนจะค่อยๆ ร่วงหลุด ไป เหลือ แต่ผิวหนัง ที่ห่อหุ้มกระดูก ทีนี้ พอเกิดการติดเชื้อ เชื้อก็จะลามเข้ากระดูก โอกาสที่จะต้องสูญเสียขา ก็จะสูงครับ 
พื้นกรงที่สกปรก 



4.กระต่ายเจ้าอารมณ์ พอโกรธที ก็ชอบ กระทืบเท้า ตอนกระทีบเท้านี่แหละครับ ถ้าพื้นที่อยู่ ไม่แข็งมาก ก็คงไม่เป็นไร เช่นในธรรมชาติ กระทีบเท้ากับดิน ก็คงไม่เป็นไร แต่ พอกระทืบ เท้าบน พื้นคอนกรีตเรื่อยๆ เข้า ก็อาจจะทำให้เกิดแผล ขนร่วง และกลายเป็นโรคนี้ตามมาได้ครับ 

5.กระต่ายอ้วนไป , กระต่ายผอมไป .. อ่านไม่ผิดหรอกครับ อ้วนก็เกิดน้ำหนัก กดลงที่ฝ่าเท้ามากไป ทำให้เกิดแผลได้เช่นกัน ส่วนผอม ก็จะทำให้ไขมันใต้ชั้นผิวหนังน้อยเกินไป ก็ทำให้เกิด แผลง่ายครับ 

6.ร้านอาบน้ำตัดขน .... กรณีนี้ เป็นความซวยของกระต่ายจริงๆครับ ืั้เจ้าของพาไปอาบน้ำ แล้ว ช่างดันไถ ขนฝ่าเท้ากระต่ายออกไปด้วย .. กระต่ายนะครับ ไม่ใช่หมา ไม่ต้องตัดขนใต้ฝ่าเท้าครับ 

7.สาเหตุอื่นๆ อีกมากมายตาแป๊ะไก่ครับ .. เช่น โรคกระดูก , หรือ โรคที่ทำให้กระต่ายไม่เดิน ฉี่แล้วเหยียบทับ หรือ อีกสาเหตุคือ เล็บยาว แล้วไม่ยอมตัดครับ ทำให้กระต่าย ลงน้ำหนักไม่ถนัดครับ 



วันนี้เอาสาเหตุไปก่อนนะครับ แล้วคราวหน้าจะมาพูดถึงวิธีการรักษา ครับ ^^ 

ด้วยความปราถนาดี  น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล 

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

สเตียรอยด์ นักบุญ ในคราบ ซาตาน (The Silent Killer)


                            สเตียรอยด์  นักบุญ ในคราบ ซาตาน

     




            ยา..ยังไงก็คือ ยา ไม่ว่าจะยาที่วิเศษสักแค่ไหน ก็มักจะมีผลข้างเคียงเสมอ ไม่มากก็น้อย ยกตัวอย่างเช่น พาราเซตตามอล ลดปวด แก้ไข้ แต่ก้ห้ามทานเกิิน 5 วัน ไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อตับได้ ในคน แต่รู้มั้ยครับว่า ยาตัวนี้ เมื่อเผลอป้อนให้แมว อาจจะทำให้แมวตายได้ จากการขาด ออกซิเจน ผมเขียนไม่ผิดหรอกครับ จากการขาด ออกซิเจนจริงๆ เพราะว่ายามีผลไปยับยั้ง ไม่ให้เม็ดเลือดแดงนำพาออกซิเจนไปสู่เซลต่างๆของร่างกายได้ พูดง่ายๆ คือ อันตรายถึงชีวิต เป็นพิษกับแมว นั่นแหละครับ 

           คราวนี้มาเข้าเรื่องดีกว่าครับ ยาที่ผมจะพูดในตอนนี้ก็คือ Steroid ยาที่มีประโยชน์มหาศาล ถ้าใช้ในทางที่ถูก และ โทษอย่างไม่น่าให้อภัย ถ้าใช้ในทางที่ผิด หรือ คิดน้อยไปก่อนจะหยิบใช้  ก่อนอ่านบทความนี้ผมขอชี้แจงก่อนว่าเป็น ความคิดเห็นของผมล้วนๆ ประกอบกับ ผลการศึกษาที่มีคนได้เคยศึกษาไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น ก่อนจะเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองนะครับ เรามารู้จักยาตัวนี้กันหน่อยมั้ยครับ เชื่อมั้ยครับ ว่า Steroid นี้ โดยปกติก็จะมีการสร้างขึ้นมาในร่างกายอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นปริมาณน้อยๆ และ อาจจะสร้างเพิ่มขึ้นได้ หรือ หยุดสร้างได้ในโรคบางโรค หรือ การได้รับยาบางอย่าง นะครับ  ในโรคบางโรค จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ Steroid  เช่นโรคภูมิคุ้มกัน ทำร้ายตัวเอง หรือ แพ้ภูมิตัวเอง นั่นแหละครับ  คราวนี้มาดูผลข้างเคียงในกระต่ายกันหน่อยดีกว่าครับ 

Steroids  ในกระต่ายั้นมี ผลข้างเคียงหลักๆ ก็คือ  

  1. กดภูมิคุ้มกันอย่างรุนแรง 
  2. มีผลเสียอย่างมากกับตับ 
  3. มีผลกระทบกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายอีกหลายระบบ 

           ที่กล่าวมาไม่ใช่การค้นพบหรือความรู้ใหม่อะไรทั้งสิ้น ความรู้นี้ได้ค้นพบมาก่อนที่ผมจะเกิดเสียอีก เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังคร่าวๆว่า เมื่อกระต่ายได้รับ steroid  ไปแม้เพียง 1  ครั้งจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง 
อันดับแรก เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่างๆ ที่จะถูกทำลาย โดยเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ ที่คอยสร้างเม็ดเลือดขาว จะค่อยๆถูกทำลายไป โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว เช่น ต่อมน้ำเหลือง ม้าม  รวมถึง ตับ และ ต่อมหมวกไต ที่ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย  ไม่เพียงแต่ให้ยาในรูปแบบการกิน หรือ ฉีดเท่านั้น แต่การให้ในรูปแบบยาหยอดตา หรือ หยอดหู ก็สามารถ มีผลกระทบต่อตัวตับได้เช่นกัน โดยจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวตับ หรือ พูดง่ายๆ คือ ตับเสื่อมสภาพ และ ตับจะค่อยๆ วายไปนั่นเอง ... 

           แล้วเมื่อกระต่ายได้รับ Steroid แล้วจะเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง  ยกตัวอย่างเล่นๆแล้วกันนะครับ  เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)  การทำลายข้อกระดูก เช่นกระดูกข้อเข่า และ เหนี่ยวนำทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน 

          การรักษาเมื่อได้รับ Steroid ... ไม่มีครับ  มีแต่การพยุงอาการและภาวนาว่า ให้ภูมิคุ้มกันที่ถูกกดนั้นดีขึ้นเร็วๆ ร่วมกับการให้ยาปฎิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน 

ถามว่าแล้วทำไมจึงต้องให้ .. ในบางกรณี คุณหมออาจจะมองว่า จำเป็นต้องให้ ก็ต้องให้ แต่นั่นหมายความในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น !!!   

ไม่ได้ห้ามใช้ แต่ว่า การที่จะใช้ยานั้น ควรต้องเข้าใจ โทษ และ ประโยชน์ ให้ถ่องแท้ ก่อนจะใช้ เพราะบางครั้ง มันก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ยาตัวนี้

        ผมขอย้ำว่า ในกรณี จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพราะผลเสียก็อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วในเบื้องต้น และผลดีล่ะ อยากรู้มั้ยครับ ... ก็อย่างเช่นที่ผมกล่าวไปแล้วในข้างต้นเช่นกัน คือ มันกดทุกอย่าง รวมถึงภูมิค้มกันด้วย สัตว์จะรู้สึก สบายตัว ไม่ปวด 
       
แต่นั่นหารู้ไม่ว่า เมื่อไหร่ที่คุณหยุดยา อาจจะพบ  ผลข้างเคียงของยาได้ ดังนั้นอาจะต้องคอยสังเกตุอาการ ถึงผลข้างเคียง ที่จะเกิดขึ้นได้ 


ด้วยความปราถนาดี ..... By Dr.Aoy