facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

ฺ หลับให้สบาย นะหมูกรอบ ... Base on true story

  สวัสดีครับ วันนี้มีเรื่องจะเล่าให้ฟังเล็กน้อยล่ะครับ..เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าค่อนข้างสะเทือนใจกับผมเหมือนกันครับ  หมูกรอบ เป็นกระต่ายที่ค่อนข้างแข็งแรง ไม่ค่อยจะป่วยอะไรเท่าไหร่ นอกจากจะมีปัญหาฟันยาวบ้างในบ้างครั้ง 
วันที่ผมเจอหมูกรอบครั้งแรกนั้นเป็นวันที่ 12 สค 51 ตรงกับวันแม่พอดีเลยครับ หมูกรอบมีปัญหาฟันยาว ก็ทำการตัดฟัน ให้ และ ก็มาตัดตกแต่งฟันเรื่อยๆ จนหลังๆ หมูกรอบก็หายจากปัญหาฟันยาว ก็ไม่ค่อยได้เจอหมูกรอบเท่าไหร่  มาเจอกันอีกทีก้ปัญหา มีฝีที่เท้า แต่พอกรีด ทำแผล กินยา หมูกรอบก็หาย เป็นปกติดี ... หมูกรอบแข็งแรงมาก 
วันก่อนที่หมูกรอบไม่สบาย  มีอาการซึม ตรวจร่างกายทุกอย่างค่อนข้างปกติดี เพียงแต่มีแก๊สเล็กน้อยที่บริเวณลำไส้  เลยเจาะเลือดตรวจร่างกาย เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรที่ผิดปกติที่แอบแฝงอยู่หรือเปล่า กลับไม่พบความผิดปกติอะไรเลย ก็ทำการรักษาเรื่องแก๊สที่ผิดปกติให้ โดยหวังว่า หมูกรอบ จะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมในอีก 2-3 วัน 
วันรุ่งขึ้นได้รับโทรศัพท์ว่าหมูกรอบอาการไม่ค่อยดี ไม่ค่อยยอมกลืนอาหารเลย และใบหูเย็นกว่าปกติ ทำให้รู้สึกว่าหมูกรอบต้องมีปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายในแน่นอน จึงรีบเข้าไปที่โรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุว่าที่แท้จริงนั้นหมูกรอบเป็นอะไรกันแน่ 
ตอนที่เจอหมูกรอบวันนั้น ดูค่อนข้างอ่อนแรง ไม่ค่อยดื้อเลย จับท่าไหนอยู่ท่านั้น ลองวัดไข้ดูก็ไม่พบว่ามีไข้ ลองคลำท้องดู รู้สึกว่าเค้าปวดท้อง และเกร็งท้อง ฟังเสียงหัวใจ เต้นช้าและเบากว่าปกติ ฟังเสียงปอด ก็ผิดปกติไป ซึ่ง ตรงกันข้ามกับเมื่อวานโดยสิ้นเชิง จึงทำการตัดสินใจตรวจ อิเลคโตรไลท์ ในกระแสเลือด  ขณะทำการเจาะเลือดนั้น พบว่าแรงดันเลือดต่ำมาก ทำให้เลือดไม่ค่อยไหลออกมาในหลอดเก็บเลือด และจากการตรวจพบว่า สมดุล ในกระแสเลือดนั้นผิดปกติ ค่อนข้างมาก โดยที่สำคัญ คือ มีความเป็น กรดในกระแสเลือดค่อนข้างสูงกว่าปกติ ค่า โซเดียม และ คลอไรด์ ต่ำ กว่าปกติ  ค่า โพทัสเซี่ยมต่ำ และยังมีอื่นๆที่ผิดปกติอีก แต่ไม่รุนแรงเท่า ค่าต่างๆที่กล่าวไปในเบื้องต้น ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างวิกฤต มากในขณะนั้น ต้องรีบทำการแก้ไขโดยด่วน 
หลังจากเตรียมยาเสร็จเรียบร้อย กำลังจะนำเค้าขึ้นไปไว้ที่พัก หมูกรอบเกิดอาการหายใจลำบากขึ้นมาและเหมือนกำลังใกล้จะช็อค จึงรีบนำมาให้ออกซิเจนและช่วยชีวิต โดยทำการให้ยากระตุ้นหัวใจ และยาอื่นๆอีก เท่าที่ จะสามารถให้ได้ และช่วยหายใจ พร้อมทั้งกระตุ้นหัวใจ แต่อาการหมูกรอบ ดูจะแย่ลงเรื่อยๆ ไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้ไป และสุดท้ายหมูกรอบ ก็ไม่ไหว จากไปอย่างสงบ  ความรู้สึกตอนนั้นของผม มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก รู้สึกเสียใจ  ปน กับความรู้สึกที่ว่า หมูกรอบเป็นอะไร ทำไมถึงเสียชีวิต ผมไม่สามารถ ตอบตัวเองได้ 
ผมเข้าใจถึงความสูญเสีย ไม่ว่าสัตว์ตัวนั้นจะเป็นอะไร กระต่าย หมา แมว หรือสัตว์อื่นๆ แต่ผมก็ไม่รู้จะปลอบใจเจ้าของยังไงดี ได้แต่ให้เจ้าของนั้นอยู่กับ หมูกรอบสักระยะหนึ่งก่อนที่จะเข้าไปพูดคุยและสุดท้าย เพื่อเป็นการไม่ให้หนึ่งชีวิต ต้องเสียเปล่า จึงทำการตัดสินใจร่วมกับพี่ติ๋ว ซึ่งเป็นเจ้าของกระต่าย  เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุการตาย เพื่อเป็นการป้องกันและเพื่อกระต่ายตัวอื่น บนโลกใบนี้ต่อไป 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือครั้งแรกหลังจากเปิดช่องท้องคือ พบมีเศษอาหารเล็กน้อยในช่องท้อง ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นไม่ควรพบลักษณะ อย่างนี้ ในกระต่ายปกติ และ พบ ว่ามีก้อนขน ขนาดเล็กๆ น่าจะประมาณ ไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร ( ในต่างประเทศ เค้าเรียกลักษณะนี้ว่า Hair pellet ) หลุดออกมาอุดตันลำไส้ และติดอยู่กับบริเวณ ลำไส้ส่วนที่แตก ออก และเศษอาหารที่ออกมานั้นเองทำให้เกิด ปัญหาช่องท้องอักเสบติดเชื้อ รวมถึงตับที่มีการเสียหายเป็นบางส่วนด้วย 
อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นอาการที่พบได้น้อยและได้ค่อนข้างยากมาก แต่ก็มีอุบัติการเกิดขึ้นได้ในกระต่ายที่ขนยาวและแต่งตัวมากกว่าปกติเหมือนกัน  คราวนี้มาดูถึงสาเหตุการเกิดกันดีกว่าครับ ว่าเกิดจากอะไร เพื่อจะได้ป้องกัน ไม่ให้เกิดกับกระต่ายตัวอื่นๆครับ 
เราเรียกอาการอย่างนี้ว่า ก้อนขนอุดตันลำไส้ (Hair pellet obstruction) ซึ่ง อาการอย่างนี้ จะแตกต่างกับ โรคก้อนขนที่(Hair ball) เราพูดถึงการบ่อยๆนะครับ  โดยโรคก้อนขน หรือ Hair ball นั้น ผมจะ พูดถึงในโอกาสต่อไปในครับ ปกติแล้วนั้นกระต่ายจะมีการแต่งตัวเพื่อเลียขนตัวเอง อยู่แล้วในธรรมชาติ และ ในกระต่ายที่ทานอาหารเยื่อใยสูงๆนั้น มักจะไม่ค่อยพบโรคก้อนขนเท่าไหร่ เพราะว่าจะมีการขับขนออกมา พร้อมกับอุจจาระ ที่เป็นอุจจาระในตอนกลางวัน คือเป็นก้อนกลม คล้ายลูกกลอนนั่นเอง ถ้าเราเอาอุจจาระมาบี้ ดู จะพบลักษณะ ของเศษหญ้า และเศษ ขน ปนกันไป และอย่างที่เราทราบกัน ว่ากระต่ายจะมีการกินอึ ที่เป็นพวงองุ่น กลับเข้าไปด้วย โดยการกินอึเข้าไปนี้ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมน และ อื่นๆ  ทีนี้ ถ้ากระต่ายตัวนั้น โชคร้าย ในขณะที่ทานอึพวงองุ่น กลับเข้าไป แต่เกิด ทานอึก้อนปกติที่เป็นอึปกติ แต่ข้างในมีขนอัดแน่นเข้าไปอยู่ กระเพาะอาหารกระต่ายสามารถ ย่อยอึพวงองุ่นได้ แต่ไม่สามารถย่อยก้อนอึ ที่เป็นก้อนขนที่อัดแน่นในรูปุจจาระได้ ก้อนอุจจาระขน ดังกล่าวก็จะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหารต่างๆ ตำแหน่งที่มักพบมีการอุดตัน บ่อยๆก็คือ รอยต่อระหว่่าง กระเพาะกับลำไส้ส่วนต้น ซึ่งเป็น ตำแห่นงที่ ลำไส้จะมีขนาดเล็ก และอีกตำแหน่งคือ ตำแหน่งรอยต่อ ระหว่าง ลำไส้เล็ก กับ รอยต่อ ของ ซีคั่ม (ลำไส้หมัก) และ ลำไส้ใหญ่ ซึ่งคล้ายจะเป็น สามแยก ที่ มีโอกาส ติดของสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ได้ง่ายเช่นกัน 
การวินิจฉัยเป็นไปได้ค่อนข้างยากมาก นอกจากจะพบว่ามีการขยายใหญ่ของลำไส้ส่วนที่มีการอุดตัน และการรักษาทางยานั้นมักไม่ค่อยจะได้ผล จึงต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัด และความเสี่ยงขณะวางยาสลบในกระต่ายที่อ่อนแอนั้นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน 
ดังนั้นการป้องกันโรคนี้สำคัญที่สุดครับ เราจะป้องกันอย่างไร? จุดประสงค์ของการป้องกันโรคนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้ลดโอกาส การหลุดลอดของเส้นขนลงไปในทางเดินอาหาร และ ถ้าหลุดรอดลงไป ทำยังไง ให้เส้นขนออก มาจากลำไส้ได้ และเมื่อ ก้อนอุจจาระขน หลุดออกมาแล้วทำยังไงไม่ให้กินกลับเข้าไป  ฟังดูง่ายๆ ไม่ยาก แต่ทราบมั้ยครับว่า นี่แหละครับที่ทำได้ยาก 
เริ่มจากป้องกันไม่ให้ขนหลุดรอด ทำได้โดยการหมั่นแปลงขนบ่อยๆ ให้เส้นขนที่หมดอายุหลุดออกไปกับแปรง ไม่ใช่หลุดเข้าปากกระต่ายเมื่อกระต่ายแต่งตัวครับ  อย่างที่สอง เมื่อขนนั้นหลุดรอดเข้าไปแล้ว ทำยังไงให้ ขนออกมาจากลำไส้ได้ ง่ายที่สุดและไม่ต้องพึ่งยาใดๆ เลยก็คือ ให้ทานอาหารที่มีเยื่อใยอาหารมากๆ เช่น หญ้าขนสด หญ้าแห้ง หรือ อาหารเม็ดที่มี เปอร์เซ็นต์ Fiber สูงๆ ซึ่งในปัจจุบันนั้นก็มีหลายยี่ห้อ ให้เลือกกัน อย่างที่ สาม คือเมื่ออึออกมาแล้วทำอย่างไรไม่ให้กินอึที่เป็นขนกลับเข่้าไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาตรงนี้แหละครับ เกิดได้โดยบางทีกระต่ายมีการแต่งตัวตามปกติ แต่มีอึที่เป็นก้อนขนติดอยู่ตามบริเวณก้น หรือ ขนรอบๆก้น กระต่ายก็อาจจะกินกลับเข้าไป โดยไม่ได้ตั้งใจ  ทีนี้ก็จะเหมือนกับที่อธิบายไว้ข้างต้นครับ ว่าก้อนนี้อาจจะไปติดเข้าที่ใดที่หนึ่งในทางเดินอาหารครับ 
ปล. ขอบคุณพี่ติ๋วที่ อนุญาต ให้พิสูจน์ หาสาเหตุการเสียชีวิตของหมูกรอบนะครับ ....  หลับให้สบายนะหมูกรอบ 

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

ทุกคำถามมีคำตอบที่นี่...ฝากคำถามไว้นะครับ

   สวัสดีครับ ... กลับมาอีกทีหลังสงกรานต์ พร้อมกับ เริ่มงานอีกที หลังจากหยุด ไปหลายวัน

วันนี้ก็เลยเป็นโอกาศอันดี ที่จะมานั่ง อัพ blog ซะหน่อย ก็สั้นๆ เอาเป็นว่าใครมีปัญหาอะไร เกี่ยวกับ exotic

pets   ก็ฝากคำถามไว้แล้วกันนะครับ แล้วผมจะพยายามเข้ามาตอบให้ครับ แต่ถ้าฉุกเฉิน ไม่ต้องรอคำตอบ

นะครับเดี๋ยวจะไม่ทันการ รีบพาไปพบสัตวแพทย์ ก่อนนะครับ ^^

ปล.ทุกคำตอบและความคิดเห็นของผม เป็นความคิดเห็นส่วนตัว  แต่ไม่จำเป็นที่ ทุกคนจะเห็นเหมือนกัน

หมดนะครับ เราสามารถแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันได้ครับ  

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553

การุณฆาต...ได้บุญจริงหรือ ??

     
     สวัสดีวันสงกรานต์ครับ วันน้ีทำงานเลิกดึกอีกแล้ว แต่เนื่องจาก อาจจะเป็นวันหยุด จึงทำให้เคสยังไม่เยอะมากแต่วันนี้ก็มีเคสที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังครับ 
วันนีมีเคส มาเป็นเม่นแคระ ไม่ทราบประวัติ แน่ชัดเจ้าของ รู้แต่ว่า มีอะไรไม่รู้ที่ก้น และมีเลือดไหล ออกมา 
เนื่องจากเม่นแคระเป็นสัตว์ที่ตรวจร่างกายค่อนข้างยาก ครับ เพราะเค้าจะหดตัวตลอดเวลา และจะทำตัวสดุ้งเมื่อจะเข้าไปจับ ดังนั้นวิธีการจับบังคับ ตรวจร่างกายก็จะมีหลายเทคนิค เช่น ถ้าต้องการตรวจ ใต้ท้อง เราก็ต้องหากล่องใสๆ แล้วปล่อยให้เค้าผ่อนคลาย เค้าก็จะเดิน ทีนี้เราก็ยกกล่องขึ้นแล้วดูผ่านกล่องก็ได้ครับ หรืออีกวิธีคือ เอามือช้อน เข้าไปที่ใต้ตัวแล้วจับที่ขาหลัง แล้วยกขึ้นก็ตรวจได้เช่นกัน 
เคสนี้ผมดูแล้วเห็นทีจะต้องทำการวางยาสลบ เพราะว่าเป็นมากกว่าที่คิดไว้เยอะมากครับ   การวางยาสลบนั้นก็มี สองวิธีหลักๆ คือ การใช้ยาฉีด และการ ใช้แก๊ส สลบ ในกรณี ผมเลือกใช้ยาฉีดสลบ และใช้โดสต่ำ เนื่องจากต้องการแค่ให้ซึม และล้างแผล เท่านั้น ยังไม่ได้ผ่าตัด อะไรทั้งนั้น 



    10 นาทีผ่านไป ไวเหมือนโกหก เม่นแคระ สลบแล้วครับ หลังจากนั้นทำการล้างแผล อยากจะร้องไห้ครับ ส่วนที่โผล่ออกมานั้น เป็น มดลูกครับ  และจากการตรวจดูนั้น ไม่ใช่มดลูกที่โผล่ ออกมาเพียงอย่างเดียว ตอนปลายมดลูกนั้น อักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และเกิดเป็นเนื้อตายแล้วครับ  และจากการตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้วนั้นพบว่า เกิดปัญหา  “Uterine prolapse “ คือ มดลูกและ ปีกมดลูก เกิดหลุดออกมาภายนอกร่างกาย ซึ่งเคสนี้ปกติไม่ค่อยเกิดซึ่ง สาเหตุนั้นก็ยังไม่ทราบแน่ชัดครับ 

คำถามที่ตามมาคือ ผ่าแล้วจะรอดรึเปล่า ค่าผ่าตัดแพงหรือไม่  คุ้มหรือไม่ที่จะเสี่ยง เป็นคำถามที่จะต้องอธิบายเจ้าของสัตว์ ผมขอตอบเป็นข้อๆ แล้วกันนะครับ

   1.ผ่าแล้วจะรอดหรือเปล่า :  ไม่มีใครตอบได้ครับ ว่าผ่าแล้วจะรอดหรือไม่ เนื่องจากการวางยาสลบนั้นมีความเสี่ยง โดยเฉพาะสัตว์ตัวเล็กๆ และยิ่งเป็นสัตว์ที่ป่วยหนักอยู่แล้วความเสี่ยง การวางยา ก็จะยิ่งมีเยอะครับ แต่สิ่งที่เราจะทำได้คือ  การเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ให้กับเค้า คือ เลือกวิธีการวางยาสลบ โดยใช้แก็สสลบแทนแบบฉีด พร้อมกับการใช้ เครื่อง Monitor สัญญาณชีพ ระหว่างการวางยา พร้อมกับให้ความอบอุ่น ขณะผ่าตัด

  2.คุ้มหรือไม่ที่จะเสี่ยง :  คุ้มหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าจะวัดจากอะไร ถ้าวัดจากราคาค่าตัวผมตอบได้เลยไม่คุ้ม  แต่ถ้าวัดจากคุณค่าทางจิตใจ มันก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของว่า ผูกพัน มากขนาดไหน บางคน ผูกพัน เป็น สมาชิกในครอบครัว บางคน ผูกพัน เป็นแค่ สัตว์ ... คำถามที่ต้องตอบ เองครับ ว่าคุ้มหรือไม่ที่จะเสี่ยง แต่ผมอยากจะบอกไว้อย่างนึงว่า .. ถ้าไม่ผ่าตัดรักษา โอกาสตาย 100 %  แต่ถ้าผ่าตัด ก็มีโอกาส รอด แม้จะน้อย ก็ตามในเคสอย่างนี้ ... คุณพร้อมจะเสี่ยงรึเปล่า? 

  3.ราคาผ่าตัด ไม่ใช่ประเด็น ถ้าแพงไป ผม ก็พร้อมที่จะผ่าตัดให้ ในที่ๆ เป็นโรงพยาบาล ของรัฐบาลซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าเอกชน 
แต่เคสนี้ เจ้าของ อยากให้  Put to sleep หรือ การุณฆาต  ซึ่งเป็น คำที่ผมไม่ได้อยากยินที่สุด เพราะหมายถึง หนึ่งชีวิต ที่ต้องสูญเสียไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เช่น เจ้าของดูแลไม่ไหว ไม่อยากให้เป็นภาระ สัตว์ดูทรมาณ และอื่นๆ ที่หาเหตุผลมารองรับได้ 
เนื่องจากว่าพรุ่งนี้ผมหยุดงานเนื่องจากเป็นวันสงกรานต์ และอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นขึ้นปีใหม่ ผมไม่อยากให้สัตว์ตายถ้ายังมีหนทาง ที่ทำให้รอดได้  ผมเลยขอเม่นตัวนี้มาผ่าตัดให้ ถ้ารอด ก็จะส่งคืนให้เจ้าของนำไปเลี้ยงต่อ 
ช่วยกันภาวนาให้เม่นแคระ รอดคืนนี้ด้วยเถอะครับ พรุ่งนี้เช้า ผมจะรีบเข้าไปที่ทำงานเพื่อทำการผ่าตัดเช้า.... 
คุณเชื่อว่าปาฎิหารมีจริงมั้ยครับ.......
ปล.ขอบคุณพี่ ดอลลี่ ที่ช่วยปลุกความตั้งใจที่หายไปกลับมาครับ 

Heat stroke ... ภัยเงียบ ที่ คิดไม่ถึง


สวัสดีครับ เข้าเดือนเมษายนทีไร ร้อนแทบขาดใจทุกที ไม่ว่าจะจากอากาศที่ร้อนจนเป็นสถิติใหม่กันไปแล้ว หรือจาก องศา ความรุนแรงทางการเมืองก็ตามแต่ พูดถึงอากาศที่ร้อนจัดในเดือนนี้ โรคที่หนีไม่พ้นก็คือ ฮีทสโตรก “Heat stroke “ หรือ ภาวะช็อคจากความร้อน ซึ่งพบได้แทบจะทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 2-3 ตัว เลยล่ะครับซึ่งอัตราการสูญเสียของโรคนี้ ค่อนข้างมากทีเดียวครับ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เรามารู้จักโรคนี้กันหน่อยดีกว่าครับ
Heat stroke นั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในกระต่าย และ สัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีต้นกำเนิด จากเมืองหนาว เช่น ชินชิล่า คำถามที่พบบ่อยว่าทำไม ถึงเกิด Heat stroke ได้ง่ายในกระต่าย และสัตว์ ฟันแทะ อื่นๆ เนื่องจาก โดยปกติแล้ว กระต่ายเป็นสัตว์ ที่่ชอบอยู่ในที่มีอากาศเย็น สบาย และไม่ชอบที่ ที่มีอากาศร้อน เหตุผลเพราะว่า กระต่ายนั้น ไม่มีต่อมเหงื่อ และกระต่ายนั้น ไม่สามารถ ระบายความร้อนออกทางเหงื่อได้ครับ ทำให้ความร้อน ที่สะสมอยู่ในร่างกายกระต่ายนั้น เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ จนถึงระดับหนึ่ง เมื่อสะสมไปมากๆ จะทำให้ร่างกาย รับความร้อนที่มากเกินไปไม่ไหว ทำให้ เกิดภาวะ ต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาครับ ภาวะนี้มีอาการหลักๆ ดังนี้ครับ
1.ซึมเบื่ออาหาร : อาการนี้ เป็นอาการที่ต้องบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ อาการแรกที่แสดงออกมาก็คืออาการนี้ ดังนั้น เมื่อกระต่ายแสดงอาการนี้ออกมา ต้องรีบหาสาเหตุนะครับ ว่าแท้จริงนั้นเกิดจากอะไรกันแน่

2.มีอาการหายใจเสียงดัง : อาการนี้ต้องแยกให้ออกว่า เกิด จากปัญหาที่ปอด หรือว่า ที่ Heat stroke กันแน่ เสียงหายใจที่สังเกตุได้นั้น จะมีเสียงดัง แต่จะไม่ดังมาก และ ร่วมกับมีการหายใจทางจมูก โดยทำจมูก บานๆ ดูคล้ายๆ หายใจลำบาก และบางทีอาจจะหายใจจนตัวโยน เลยก็ได้ครับ

3.ขาหลังอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ ตัวสั่น :อาการนี้เป็นอาการที่สังเกตุได้ค่อนข้างชัดเจนมากของโรคนี้นะครับ แต่เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่สังเกตุนั่นหมายความว่า อาการของสัตว์เลี้ยงนั้น ค่อนข้างแย่แล้วนะครับ หลายครั้งที่สัตว์มาด้วยอาการนี้ แล้วทำการวัดไข้ มักจะพบว่า ไข้ขึ้นสูงไปมากกว่าที่ ปรอทจะวัดได้ (ปรอทวัดไข้ได้สูงสุด 42 องศา เซลเซียส)

4.น้ำลายไหลเปียกคาง : อาการนี้ก็เป็นอาการที่บ่งบอกได้เช่นกันว่า กระต่ายเริ่มมีภาวะ ฮีทสโตรก แล้ว แต่ที่สำคัญต้องแยกให้ออกว่า ไม่ใช่น้ำลายไหลเนื่องจากฟันกรามที่ยาวเกินไป

5.จับตัวแล้วร้อน : ปกติการแลกเปลี่ยนความร้อนในร่างกายกระต่ายนั้น จะเเลกเปลี่ยนความร้อนได้ดีที่สุดคือทางใบหู บางทีถ้าเราจับหู แล้วมีอาการเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน นั่นหลายถึงอาจจะเป็นการปรับสมดุลความร้อนอยู่ก็เป็นได้ครับ แต่เมื่อเราจับบริเวณ ขาหนีบ หรือ ซอกรักแร้ หรือ บริเวณ หลังคอ แล้ว รู้สึกว่าร้อนกว่าปกติ นั้นอาจจะหมายถึง เริ่มมีปัญหากับความร้อนแล้วก็ได้นะครับ แต่วิธีที่ดีที่สุดก็คือการใช้ปรอทวัดไข้ผ่านทางทวารครับ โดยปกติแล้ว อุณหภูมิกระต่ายนั้น เมื่อวัดผ่านทางก้น ควรจะอยู่ที่ 38-40 องศาเซลเซียส ไม่ควรเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ถ้าเกินกว่านี้ ถือว่าเข้าขั้น วิกฤต แล้วครับ

6.นอนนิ่งไม่ขยับ และ ช็อค ชักเกร็ง : อาการนี้เป็นอาการขั้นสุดท้ายของโรคนี้ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ว่าหมอ หรือ ผู้เลี้ยงคนไหน ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อเกิดขึ้นแล้ว กระต่ายมักจะทนความร้อนที่ร้อนเกินไปไม่ไหว และร่างกายไม่สามารถที่จะ ควบคุม ตัวเองได้แล้ว อัตราการเสียชีวิต เมื่อมาถึงระยะนี้ต้องบอกว่า มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็คือ โอกาสที่ต้องคว้าไว้ โดยการช่วยเค้าให้เต็มที่ ผมเชื่อว่าชีวิตก็ยังมีปาฎิหารเสมอครับ
เราก็ได้รู้จักอาการคร่าวๆกันไปแล้วนะครับ ว่าอาการที่มักแสดงออกนั้นประกอบด้วยอาการอะไรบ้าง คราวนี้เราดูวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งสัตวแพทย์ดีกว่าครับว่า เราจะช่วยเหลือ กระต่าย และช่วยเหลือหมอ อย่างไรได้บ้าง จุดมุ่งหมายของการรักษาเบื้องต้น คือ พยายามลดความร้อนลง โดยใช้วิธีที่ผมจะ เขียนต่อไปนี้
1.เมื่อรู้สึกว่า กระต่ายตัวร้อนให้หาน้ำ อาจจะใช้น้ำที่เย็นกว่าปกติเล็กน้อย (ห้ามน้ำเย็นจัดนะครับ) หรือ ใช้ แอลกอฮอล์ ผสม กับน้ำธรรมดา ในอัตราส่วน 1:1 ก็ได้ครับ ค่อยๆเช็ดบริเวณ ใบหู (สำคัญที่สุด) และ เช็ดบริเวณ ขาหนีบ
2.ทำการใช้สเปร์น้ำ ให้เป็นละออง เพื่อช่วยลดความร้อน ก็ได้ หรือ ใช้น้ำธรรมดา พรมลงไปให้ทั่วตัว

3.ใช้ผ้าขนหนูที่เปียกเช็ดตัวและ ห่อตัวไว้ จากนั้น อาจจะใช้ไดร์ที่เป็นลมเย็น เป่า เพื่อให้ความร้อนระเหยออกก็ได้

4.ค่อยๆป้อนน้ำเย็น หรือ จัดหาน้ำเย็น ให้กิน โดยสามารถใส่ กระบอก ถ้วย หรือ ป้อนโดยตรงก็ได้

5.รีบนำส่งสัตวแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
สิ่งที่ห้ามคือ การ ลดอุณหภูมิด้วยน้ำเย็นจัด หรือใช้ แอลกอฮอล์ เพียวๆ (เดี๋ยวจะเมา^^) เพราะจะยิ่งทำให้ เส้นเลือดหดตัว ทำให้อุณหภูมิ ที่บริเวณหนังลดลง แต่อุณหภูมิ ที่อยู่ในร่างกาย เพิ่มมมากขึ้น วึ่งอาจจะทำให้อาการร้ายแรงขึ้นไปอีก
การป้องกันหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิด Heart stroke เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และ ดีกว่าการรักษา เราสามารถทำได้โดย ให้ กระต่ายอยู่ในที่ ที่อากาศถ่ายเทสะดวก มีลมพัดผ่าน ถ้าอากาศร้อนมากจนเกินไป พยามยาม หาพัดลมมาให้ โดยให้ทำการเปิด ส่าย ไปมา และไม่ควรใช้ พัดลม ติดเพดาน แนะนำใหเใช้พัดลม ที่ตั้งพื้นจะเหมาะที่สุด หรือ หากมีพัดลมไอน้ำ อาจจะใช้่ร่วมด้วยในกรณีที่อากาศร้อนจริงๆ และไม่แนะนำให้ ใช้พัดลมไอน้ำ ตลอดเวลา เนื่องจากอาจจะทำให้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจได้ครับ และในกรณีที่สามารถเปิด แอร์ให้ กระต่ายได้ แนะนำให้เปิดครับ เพราะจะช่วยทำให้กระต่ายสบายตัวขึ้นครับ
วันไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ในวันที่ความชื้นสูง ร่วมกับอาการร้อน โดยสังเกตุได้ง่ายๆจาก วันไหนที่เรารู้สึกอึดอัด กับอากาศ เหนียวตัว คล้ายกับอากาศในช่วงก่อนฝนจะตก ช่วงนี้แหละครับที่น่ากลัว เพราะเมื่อความชื้น ในกาศสูงมากๆ การระบายความร้อน ออกจากตัวจะยิ่ฝทำได้ยากขึ้น
เมื่อมาถึงมือสัตวแพทย์ ทีนี้ก็ขึ้นกับดุลยพินิจ ของคุณหมอแต่ละท่านว่า ควรจะทำสิ่งใดก่อนซึ่งการรักษานั้น ก็มีหลากหลายวิธี และไม่จำเป็นต้องให้การรักษา ทุกอย่างที่เขียนไป ขึ้นอยู่กับ กรณีๆ ไป ครับ
1. ลดอุณหภูมิร่างกายของกระต่ายลงโดยใช้วิธีการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
  1. ให้น้ำเกลือ อาจจะให้เข้าเส้นเลือด หรือใต้ผิวหนัง แล้วแต่อาการ
  2. ให้ยาลดไข้ หรือ ลดการบวม ของสมอง ขึ้นกับกรณี
  3. ให้ยาปฎิชีวนะ ซึ่งขึ้นกับกรณี เช่นกัน โดยอาจจะให้หรือไม่ให้ก็ได้
  4. ในกรณีที่เป็นมาก อาจจะต้องให้ ออกซิเจนร่วมด้วย
  5. ให้ยาขยายหลอดเลือด เพื่อช่วยทำให้การลดอุณหภูมิ มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ ยาซึม เพื่อลดความเครียด ขณะ จับบังคับ หรือ เช็ดตัวสัตว์
นี่ก็เป็นแค่วิธีการคร่าวๆ และภาพรวมในโรคนี้ โดยบทความที่เขียนขึ้นนี้ เป็นเพียงแนวทางกว้างๆเท่านั้น ซึ่งในรายละเอียดแล้วอาจจะมีมากกว่านี้ อย่างน้อยสิ่งที่อยากให้เป็นประประโยชน์กับผู้เลี้ยงกระต่ายและสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ก็คือ ลดโอกาส การป่วยและเสียชีวิต ของกระต่ายลง
มีกระต่ายจำนวนไม่น้อย ที่เสียชีวิตก่อนจะมาถึงมือหมอ เพียงแต่ เจ้าของสามารถ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ อาจจะเป็นการเพิ่มโอกาส ให้เค้ามีชีวิตรอดได้ และมี กระต่ายหลายตัวเหมือนกัน ที่เสียชีวิต ขณะทำการรักษา ผมในฐานะสัตวแพทย์ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเลย เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ ที่ทำให้ทุกคนต้องเศร้าและเสียใจ การป้องกันไม่ให้เกิด ดีกว่า การรักษา เชื่อผมเถอะครับ

ด้วยความปรารถนาดี
น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล


วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

Sugar glider เครื่องร่อนมีชีวิต ^^


สวัสดีครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวของสัตว์เลี้ยงแสนรักมาฝากครับ เค้ามีชื่อ ภาษาอังกฤษว่า Sugar Gliders หรือ จิงโจ้บิน ในภาษาเรานั่นเอง นั่นแน่ เริ่มอยากรู้แล้วใช่มั้ยครับว่าเค้ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร


เค้าเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศ ออสเตรเลีย และนิวกีนี ซึ่งเป็นทวีปที่มีสัตว์ค่อนข้างหลากหลาย และแปลกๆ มากมาย โดยเฉพาะ สัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องอย่างเช่น จิงโจ้ และจิงโจ้บินเป็นต้น


จิงโจ้บินเป็นสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้องขนาดเล็กและเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยกระเป๋าหน้าท้องจะพบได้แต่ในเพศเมียเท่านั้น และมีพังผืดที่เชื่อมระหว่างขาหน้ากับขาหลัง เวลาที่เค้าปืนขึ้นไปบนยอดไม้ และร่อนตัวลงมาจะดูคล้ายกับว่าสามารถบินได้ เลยได้ชื่อเรียกว่า จิงโจ้บิน

เรามาทำความรู้จักกับถุงหน้าท้องของจิงโจ้บินกันดีกว่าครับ ถุงหน้าท้องของจิงโจ้บินนี่มีเต้านมอยู่ภายใน 2 คู่ และจะจับคู่ผสมพันธ์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน โดยตัวผู้หนึ่งตัวสามารถทำการผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัว ลูกที่คลอดออกมาจะอาศัยอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งในกระเป๋าหน้าท้องจะมีขนที่อ่อนนุ่มและอบอุ่นคอยรองรับตัวเค้าไว้


จิงโจ้บินจะลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกเมื่ออายุได้ประมาณ 70 วัน และเมื่ออายุประมาณ 120 วัน เค้าจะหย่านม ดังนั้นเวลาที่ท่านผู้อ่านต้องการที่จะเลือกซื้อ ผมขอแนะนำว่าให้เลือก จิงโจ้บินที่ลืมตาและหย่านมแล้ว โดยจิงโจ้บินที่หย่านมแล้ว จะมีน้ำหนักตัวประมาณ 70 กรัมขึ้นไป


ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะตัดสินใจเอาเจ้าจิงโจ้บินมาเป็นสัตว์เลี้ยงคู่กาย ผมขอแนะนำนิสัยใจคอของเจ้าจิงโจ้บินไว้คร่าวๆดังนี้ครับ เค้าเป็นสัตว์ที่ฉลาดแสนซนและยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดีอีกด้วย มีอายุเฉลี่ยประมาณ 10-12 ปี (ในกรงเลี้ยง) แต่ในธรรมชาติจะมีอายุที่สั้นกว่า

ถ้าท่านผู้อ่านตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าต้องการที่จะเลี้ยงจิงโจ้บินเป็นเพื่อนคู่ใจแล้วหละก็ ผมขอแนะนำว่าเค้าชอบที่จะอาศัยอยู่ในที่ที่อบอุ่นและปลอดภัย อย่างเช่น เค้ามักจะชอบนอนหลับอยู่ในกระเป๋าเสื้อของเราเพราะได้รับไออุ่นจากตัวเราและยังรู้สึกปลอดภัยจากอันตรายอีกด้วย บางครั้งเค้าก็ชอบที่จะนอนหลับอยู่ในอุ้งมือของเราเพราะว่ามันอบอุ่นนั้นเอง หรือ บางทีเค้าอาจจะคิดว่าเราเป็นพ่อแม่ของเค้าก็ได้นะครับ


โดยธรรมชาติแล้วจิงโจ้บินจะหาอาหารทานเองจากธรรมชาติ ซึ่งก็ได้แก่ เปลือกไม้ ยางของต้นยูคาลิปตัส ต้น อคาเชีย และ แมลงเล็กๆรวมทั้งหนอนด้วย และอาหารสุดโปรดของจิงโจ้บินก็คือ อาหารที่มีรสหวานๆ อย่างเช่นน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้ หรือบางครั้งก็แอบไปทานน้ำผึ้งด้วยนะครับ ดั้งนั้นจิงโจบินเลยได้รับฉายาว่า “Sugar Gliders” Sugar = น้ำตาล และ Gliders = ก็คือเครื่องล่อนนั้นเองครับ


ทีนี้ท่านผู้อ่านก็ได้ทราบถึงนิสัยใจคอและอาหารการกินของจิงโจ้บินกันพอสมควรแล้วนะครับ ตอนนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าโรคภัยไข้เจ็บที่มักจะเกิดกับจิงโจ้บินของเรามีอะไรบ้างโดยส่วนใหญ่แล้วโรคภัยไข้เจ็บของเค้าที่มักพบได้บ่อยๆในคลินิกคือการจัดการเลี้ยงดูที่ผิดครับ และ ถ้าท่านผู้อ่านตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะเอาเจ้าจิงโจ้บินเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวหละก็ สิ่งที่ต้องเตรียมอันดับแรกเลยก็คือที่อยู่อาศัยของเค้าหรือที่นอนนั้นเอง จิงโจ้บินต้องการที่อยู่อาศัยที่สะอาด เพราะเค้าเป็นสัตว์ที่ไวต่อสิ่งแปลกปลอมและก็แพ้สารพิษหรือสารเคมีได้ง่ายมากๆด้วยเช่นกัน ฉะนั้นผมขอแนะนำว่าที่อยู่อาศัยของเค้าควรทำให้คล้ายกับที่เค้าอยู่ในธรรมชาติมากๆซึ่งในทางทฤษฏีแล้วพื้นที่ที่ต้องการจริงๆ ควรจะ มีขนาด 1800 mm* 1800 mm * 2000 mm หากจิงโจ้บินมีขนาดเล็กที่นอนของเค้าควรที่จะอบอุ่นและอ่อนนุ่ม ให้เหมือนกับที่เค้านอนหลับอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่เค้าบางท่านมักจะนำจิงโจ้บินติดตัวไปทำงานหรือเรียนหนังสือด้วยการหาถุงเล็กๆบุสำลีนุ่มๆ เพื่อที่จะใส่เค้าเข้าไปด้านในวิธีนี้สามารถใช้ได้แต่อย่านำเค้าใส่กระเป๋าเสื้อหรือกางเกงที่ฟิตมากเพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ง่าย และหากท่านผู้อ่านต้องการที่จะอาบน้ำให้กับเจ้าจิงโจ้บินนั้น ถ้าถามว่าอาบได้ไหมที่จริงแล้วก็ไม่จำเป็นนะครับ แต่ถ้าหากเค้าสกปรกจริงๆ ขอแนะนำว่าให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น บิดพอหมาดๆเช็ดตัวก็พอครับ แต่หากจะต้องใช้แชมพู ก็ขอให้เลือกใช้แชมพูที่อ่อนๆ เพราะผิวหนังเค้าไวต่อการแพ้สารเคมีได้ง่ายมากๆ


ส่วนการให้อาหารแก่เจ้าจิงโจ้บินนั้นก็ควรให้ให้ครบกับความต้องการของร่างกาย ไม่ควรให้มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลให้จิงโจ้บินของเราป่วยได้ง่ายครับ เค้าต้องการสารอาหารจำพวก โปรตีน แคลเซียม และวิตามิน ซึ่งหาได้ง่ายๆจาก ยางไม้ ผลไม้ต่างๆ แมลงหรือหนอนเล็ก เราไม่ควรให้เค้าทานผักและผลไม้มาก และอาหารที่มีรสหวานมากจนเกินไป เพราะจะสงผลเกี่ยวกับการมองเห็นของเค้า ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตุเห็นว่าในตาของจิงโจ้บินมีจุดเม็ดเล็กสีขาวๆเกิดขึ้นหละก็ นั้นแปลว่าท่านให้เค้าทานอาหารที่มีไขมันมากจนเกินไป ทำให้ไขมันขึ้นไปสะสมอยู่ในบริเวณตาและจะทำให้การมองเห็นของเค้าด้อยประสิทธิภาพลง


โรคที่พบได้บ่อยอีกโรคที่เกิดจากความสมดุลของแร่ธาตแคลเซียมและฟอสฟอรัส คือแสดงอาการขาหลังอ่อนแรง และอาจจะถึงเป็นอัมพาตของสองขาหลังได้ โดยสาเหตที่ขาดก็อาจจะนื่องการได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป หรือว่าขาดวิตามินดี รวมทั้งได้รับแสงแดดไม่เพียงพอด้วย ซึ่งตรงนี้เราสามารถแก้ปัญหาได้คือ เสริมอาหารแคลเซียมเข้าไปในอาหาร เช่นนำแคลเซียมผงมาคลุกกับหนอนหรือแมลงเล็กๆก่อนที่จะให้เค้าทานเข้าไป และพาเค้าของมารับแสงแดดยามเช้าหรือเย็นบ้างแต่ก็ไม่ควรให้เค้าโดนแสงแดดจ้าๆหรืออยู่ในที่แดดจัดๆ เพราะว่าในธรรมชาติแล้วเค้าเป็นสัตว์ที่ชอบหากินในเวลากลางคืนหรือตอนเช้ามืด (nocturnal)


เป็นอย่างไรบ้างครับเริ่มจะหลงรักเจ้า Sugar gliders หรือจิงโจ้บินเข้าแล้วบ้างหรือยังครับ ยังไงก่อนที่จะเลี้ยงเค้าอย่าลืมดูความพร้อมของตัวเองและแน่ใจว่าไม่ได้เลี้ยงตามกระแสนิยมนะครับ เพราะว่า เราอาจจะไปทำร้ายเค้าทางอ้อมได้ ถ้านำเค้ามาเลี้ยงแล้วไม่รู้จักธรรมชาติและนิสัยของจิงโจ้บินดีพอ แล้วพบกันใหม่ ในโอกาสหน้าครับ