facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หนาวนี้ ไม่หนาวแน่ กับภาวะ Heat stroke

  สวัสดีครับ ช่วงนี้ก็เข้าหน้าหนาวแล้วแล้วนะครับ อากาศโดยทั่วไปก็เริ่มเย็นลงเรื่อยๆ แต่เชื่อหรือไม่ ว่า อากาศเย็นๆ อย่างนี้ มีโรคอยู่โรคหนึ่ง ซึ่งผู้เลี้ยงกระต่ายมักจะมองข้ามไป คือโรค Heat stroke  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดู ครับ เพียงแต่ว่า ในช่วงหน้าหนาว จะพบน้อยกว่า  ฤดูอื่น เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันหน่อยดีกว่าครับ 
Heat stroke  นั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในกระต่าย และ สัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีต้นกำเนิด จากเมืองหนาว เช่น ชินชิล่า  คำถามที่พบบ่อยว่าทำไม ถึงเกิด Heat stroke ได้ง่ายในกระต่าย และสัตว์ ฟันแทะ อื่นๆ  เนื่องจาก โดยปกติแล้ว กระต่ายเป็นสัตว์ ที่่ชอบอยู่ในที่มีอากาศเย็น สบาย และไม่ชอบที่ ที่มีอากาศร้อน เหตุผลเพราะว่า กระต่ายนั้น ไม่มีต่อมเหงื่อ และกระต่ายนั้น ไม่สามารถ ระบายความร้อนออกทางเหงื่อได้ครับ ทำให้ความร้อน ที่สะสมอยู่ในร่างกายกระต่ายนั้น เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ จนถึงระดับหนึ่ง เมื่อสะสมไปมากๆ จะทำให้ร่างกาย รับความร้อนที่มากเกินไปไม่ไหว ทำให้ เกิดภาวะ ต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาครับ ภาวะนี้มีอาการหลักๆ ดังนี้ครับ

 1.ซึมเบื่ออาหาร : อาการนี้ เป็นอาการที่ต้องบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ อาการแรกที่แสดงออกมาก็คืออาการนี้ ดังนั้น เมื่อกระต่ายแสดงอาการนี้ออกมา ต้องรีบหาสาเหตุนะครับ ว่าแท้จริงนั้นเกิดจากอะไรกันแน่

2.มีอาการหายใจเสียงดัง : อาการนี้ต้องแยกให้ออกว่า เกิด จากปัญหาที่ปอด หรือว่า ที่ Heat stroke กันแน่ เสียงหายใจที่สังเกตุได้นั้น จะมีเสียงดัง แต่จะไม่ดังมาก และ ร่วมกับมีการหายใจทางจมูก โดยทำจมูก บานๆ ดูคล้ายๆ หายใจลำบาก และบางทีอาจจะหายใจจนตัวโยน เลยก็ได้ครับ 

3.ขาหลังอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ ตัวสั่น :อาการนี้เป็นอาการที่สังเกตุได้ค่อนข้างชัดเจนมากของโรคนี้นะครับ แต่เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่สังเกตุนั่นหมายความว่า อาการของสัตว์เลี้ยงนั้น ค่อนข้างแย่แล้วนะครับ หลายครั้งที่สัตว์มาด้วยอาการนี้ แล้วทำการวัดไข้ มักจะพบว่า ไข้ขึ้นสูงไปมากกว่าที่ ปรอทจะวัดได้ (ปรอทวัดไข้ได้สูงสุด 42 องศา เซลเซียส) 

4.น้ำลายไหลเปียกคาง :  อาการนี้ก็เป็นอาการที่บ่งบอกได้เช่นกันว่า กระต่ายเริ่มมีภาวะ  ฮีทสโตรก แล้ว แต่ที่สำคัญต้องแยกให้ออกว่า ไม่ใช่น้ำลายไหลเนื่องจากฟันกรามที่ยาวเกินไป 

5.จับตัวแล้วร้อน : ปกติการแลกเปลี่ยนความร้อนในร่างกายกระต่ายนั้น จะเเลกเปลี่ยนความร้อนได้ดีที่สุดคือทางใบหู บางทีถ้าเราจับหู แล้วมีอาการเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน นั่นหลายถึงอาจจะเป็นการปรับสมดุลความร้อนอยู่ก็เป็นได้ครับ แต่เมื่อเราจับบริเวณ ขาหนีบ หรือ ซอกรักแร้ หรือ บริเวณ หลังคอ แล้ว รู้สึกว่าร้อนกว่าปกติ นั้นอาจจะหมายถึง เริ่มมีปัญหากับความร้อนแล้วก็ได้นะครับ  แต่วิธีที่ดีที่สุดก็คือการใช้ปรอทวัดไข้ผ่านทางทวารครับ โดยปกติแล้ว อุณหภูมิกระต่ายนั้น เมื่อวัดผ่านทางก้น ควรจะอยู่ที่  38-40  องศาเซลเซียส ไม่ควรเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ถ้าเกินกว่านี้ ถือว่าเข้าขั้น วิกฤต แล้วครับ 

6.นอนนิ่งไม่ขยับ และ ช็อค  ชักเกร็ง  : อาการนี้เป็นอาการขั้นสุดท้ายของโรคนี้ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ว่าหมอ หรือ ผู้เลี้ยงคนไหน ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อเกิดขึ้นแล้ว กระต่ายมักจะทนความร้อนที่ร้อนเกินไปไม่ไหว และร่างกายไม่สามารถที่จะ ควบคุม ตัวเองได้แล้ว อัตราการเสียชีวิต เมื่อมาถึงระยะนี้ต้องบอกว่า มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็คือ โอกาสที่ต้องคว้าไว้ โดยการช่วยเค้าให้เต็มที่ ผมเชื่อว่าชีวิตก็ยังมีปาฎิหารย์เสมอครับ 
เราก็ได้รู้จักอาการคร่าวๆกันไปแล้วนะครับ ว่าอาการที่มักแสดงออกนั้นประกอบด้วยอาการอะไรบ้าง คราวนี้เราดูวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งสัตวแพทย์ดีกว่าครับว่า เราจะช่วยเหลือ กระต่าย และช่วยเหลือหมอ อย่างไรได้บ้าง  จุดมุ่งหมายของการรักษาเบื้องต้น คือ พยายามลดความร้อนลง โดยใช้วิธีที่ผมจะ เขียนต่อไปนี้
1 .เมื่อรู้สึกว่า กระต่ายตัวร้อนให้หาน้ำ อาจจะใช้น้ำที่เย็นกว่าปกติเล็กน้อย (ห้ามน้ำเย็นจัดนะครับ)   หรือ ใช้  แอลกอฮอล์ ผสม กับน้ำธรรมดา ในอัตราส่วน 1:1 ก็ได้ครับ ค่อยๆเช็ดบริเวณ ใบหู (สำคัญที่สุด) และ เช็ดบริเวณ ขาหนีบ 
2. ทำการใช้สเปร์น้ำ ให้เป็นละออง เพื่อช่วยลดความร้อน ก็ได้  หรือ ใช้น้ำธรรมดา พรมลงไปให้ทั่วตัว 

3.ใช้ผ้าขนหนูที่เปียกเช็ดตัวและ ห่อตัวไว้ จากนั้น อาจจะใช้ไดร์ที่เป็นลมเย็น เป่า เพื่อให้ความร้อนระเหยออกก็ได้ 
4.ค่อยๆป้อนน้ำเย็น หรือ จัดหาน้ำเย็น  ให้กิน โดยสามารถใส่ กระบอก ถ้วย หรือ ป้อนโดยตรงก็ได้ 

5.รีบนำส่งสัตวแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป 


สิ่งที่ห้ามคือ การ ลดอุณหภูมิด้วยน้ำเย็นจัด หรือใช้ แอลกอฮอล์ เพียงอย่างเดียว  เพราะจะยิ่งทำให้ เส้นเลือดหดตัว ทำให้อุณหภูมิ ที่บริเวณหนังลดลง แต่อุณหภูมิ ที่อยู่ในร่างกาย เพิ่มมมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้อาการร้ายแรงขึ้นไปอีก 
การป้องกันหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิด Heart stroke  เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และ ดีกว่าการรักษา เราสามารถทำได้โดย ให้ กระต่ายอยู่ในที่ ที่อากาศถ่ายเทสะดวก มีลมพัดผ่าน ถ้าอากาศร้อนมากจนเกินไป พยามยาม หาพัดลมมาให้ โดยให้ทำการเปิด ส่าย ไปมา และไม่ควรใช้ พัดลม ติดเพดาน แนะนำให้ใช้พัดลม ที่ตั้งพื้นจะเหมาะที่สุด หรือ หากมีพัดลมไอน้ำ อาจจะใช้่ร่วมด้วยในกรณีที่อากาศร้อนจริงๆ และไม่แนะนำให้ ใช้พัดลมไอน้ำ ตลอดเวลา เนื่องจากอาจจะทำให้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจได้ครับ และในกรณีที่สามารถเปิด แอร์ให้ กระต่ายได้ แนะนำให้เปิดครับ  เพราะจะช่วยทำให้กระต่ายสบายตัวขึ้นครับ 
วันไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ในวันที่ความชื้นสูง ร่วมกับอาการร้อน  โดยสังเกตุได้ง่ายๆจาก วันไหนที่เรารู้สึกอึดอัด กับอากาศ เหนียวตัว คล้ายกับอากาศในช่วงก่อนฝนจะตก  ช่วงนี้แหละครับที่น่ากลัว เพราะเมื่อความชื้น ในกาศสูงมากๆ การระบายความร้อน ออกจากตัวจะยิ่งทำได้ยากขึ้น 
เมื่อมาถึงมือสัตวแพทย์ ทีนี้ก็ขึ้นกับดุลยพินิจ ของคุณหมอแต่ละท่านว่า ควรจะทำสิ่งใดก่อนซึ่งการรักษานั้น ก็มีหลากหลายวิธี และไม่จำเป็นต้องให้การรักษา ทุกอย่างที่เขียนไป ขึ้นอยู่กับ กรณีๆ ไป ครับ 
1. ลดอุณหภูมิร่างกายของกระต่ายลงโดยใช้วิธีการต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว 
  1. ให้น้ำเกลือ อาจจะให้เข้าเส้นเลือด หรือใต้ผิวหนัง แล้วแต่อาการ 
  2. ให้ยาลดไข้ หรือ ลดการบวม ของสมอง ขึ้นกับกรณี 
  3. ให้ยาปฎิชีวนะ ซึ่งขึ้นกับกรณี เช่นกัน โดยอาจจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ 
  4. ในกรณีที่เป็นมาก อาจจะต้องให้ ออกซิเจนร่วมด้วย 
  5. ให้ยาขยายหลอดเลือด เพื่อช่วยทำให้การลดอุณหภูมิ มีประสิทธิภาพมากขึ้น  หรือ ยาซึม เพื่อลดความเครียด ขณะ จับบังคับ หรือ เช็ดตัวสัตว์ 
นี่ก็เป็นแค่วิธีการคร่าวๆ และภาพรวมในโรคนี้  โดยบทความที่เขียนขึ้นนี้ เป็นเพียงแนวทางกว้างๆเท่านั้น ซึ่งในรายละเอียดแล้วอาจจะมีมากกว่านี้ อย่างน้อยสิ่งที่อยากให้เป็นประประโยชน์กับผู้เลี้ยงกระต่ายและสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ก็คือ ลดโอกาส การป่วยและเสียชีวิต ของกระต่ายลง  
              ด้วยความปรารถนาดี 
                  น.สพ.เชาวพันธ์    ยินหาญมิ่งมงคล 

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คุณหมอหนูท้อง...เมื่อต้องกลายเป็นหมอตำแยหนูแฮมสเตอร์ ^^

สวัสดีครับ วันนี้มีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกแล้วครับ.. วันนี้ผมเจอเคสเคสนึง เป็นหนูแฮมสเตอร์ อีกแล้วล่ะครับ เค้ามาด้วยอาการปวดเบ่ง เหมือนทำท่าจะเบ่งอึ หรือ เบ่งคลอด มา 3 แล้ว  ซึ่ง เจ้าของไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสาเหตุอันใด  เลยพามาหาผม ให้ช่วยตรวจดูอาการให้ ..

หนูตัวนี้เป็นเพศเมียครับ ดูภายนอกเหมือนช่องท้องขยายใหญ่กว่าปกติ เลยคลำตรวจช่องท้อง พบเหมือนมีก้อนคล้าย ลูกอยู่ในท้อง เลยขอเจ้าของ  x-ray เพื่อดูขนาดลูก ว่าสามารถ ออกเองได้หรือเปล่า ต้องผ่าคลอดหรือว่า แค่ ฉีดยาช่วยคลอด 

หลังจากรอ x-ray สักพัก ผมก็ไปเตรียมเครื่องมือและผ้าห่มไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความอุ่นขณะผ่าตัด  เพราะคิดว่าน่าจะต้องผ่าตัดแน่ๆ พอผล x-ray ออกมา ดังคาดหมาย ว่ามีปัญหาคลอดยากเนื่องจากลูกตัวใหญ่และวางตัวผิดท่า 

(รูป อาจจะไม่ค่อยชัดเท่าหร่นะครับ แต่พอจะเห็นโครงกระดูกลูกได้และช่องท้องขยายมากครับ )

ก่อนผ่าตัดอย่างที่ทราบกันคือเราต้องการให้ยาลดปวดและยาปฎิชีวนะก่อนผ่าตัด หนูแฮมสเตอร์ หนัก 50 กรัม คำนวนยาที่ต้องฉีดให้ 2 เข็ม ได้ปริมาณยาเท่ากับ 0.002 กับ 0.005 ซีซี !!! ลมแทบจับเลยครับ จะดูดยาอย่างไรดี นั่งคำนวนซักพักก็ไปเตรียมยา โดยดูดยาปริมาณน้อยที่สุดที่ดูดได้คือ 0.01 แล้วผสมน้ำ เป็น สิบเท่า แล้วฉีดยาเข้าไป 0.02  ที่เหลืออีกเข็มก็ทำคล้ายๆกัน โดยมีเครื่องคิดเลข เป็นผู้ช่วย ตอนนี้สมองไม่ค่อยทำงานครับ คิดเลขไม่ค่อยได้ kiss ได้อย่างเดียว ^^ 

หลังจากอผ้าห่มไฟฟ้าร้อนได้ที่ก็วางยาสลบโดยการใช้แก็สสลบ ให้เค้าดม สักพักนึงก็หลับครับ หลังจากนั้นก็โกนขน ตอนโกนขนนี่สำคัญนะครับสมาธิต้องดี มือต้องนิ่ง เพราะหนังเค้าบางมาก พลาดนิดเดียว นี่อาจจะเข้าเนื้อได้เลยครับ  หลังจากโกนขนเสร็จ ก็ทำความสะอาด โดยใช้ผ้าก็อซ ที่นิ่งฆ่าเชื้อแล้ว เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และ แอลกอฮอลล์ ซึ่งห้ามใช้วิธีการพ่น เหมือนในสัตว์อื่นนะครับ เพราะว่าจะทำให้แอลกอฮอล์ไปโดนส่วนอื่นๆของร่างกายซึ่งจะทำให้ สูญเสียความร้อนและทำให้หนูช็อคได้ครับ


ขั้นตอนต่อไปคือ ผ่าตัดครับ อุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นเครื่องมือตาครับ คือเล็กสุดๆ แล้ว แต่ก็ดูค่อนข้างใหญ่สำหรับผ่าหนูแฮมสเตอร์อยู่ดีครับ และขณะเปิดผ่านผนังหน้าท้องเข้าไป สิ่งที่พบก็คือ มีลูกอยู่ในช่องท้องแล้วครับ ... นั่นหมายถึงว่ามดลูกของหนูแฮมตัวนี่แตกออกมาทำให้ ลูกหลุดอยู่ในช่องท้องครับ ซึ่งก็ต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกที่เสียหายออกมาด้วย และลูกที่ตายออกมาด้วย 

เคสนี้ค่อนข้างน่าเสียดายที่ลูกตายหมดแต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่ครับเพราะว่าแม่ปลอดภัยจากการผ่าตัดและฟื้นสลบครับ 
เรามารู้จักแฮมๆกันหน่อยดีมั้ยครับว่าวงจรชีวิตเค้าเป็นยังไงบ้าง 





อายุขัยในกรงเลี้ยง 
1.5-3 ปี
ตั้งท้อง
18 วัน
อุณหภูมิร่างกาย
 38-39.5 องศาเซลเซียส
ปริมาณลูกต่อครอก 
5-9 ตัว
อัตราการหายใจ
35-135 ครั้งต่อนาที
น้ำหนักลูกเมื่อคลอด
2 กรัม
อัตราการเต้นหัวใจ
250-500 ครั้งต่อนาที
หย่านม 
20-25 วัน
ปริมาณเลือดในร่างกาย
8 มิลลิลิตร ต่อ 100 กรัม
ตัวผู้เจริญพันธุ์(ผสมพันธุ์ได้ )
10-14 สัปดาห์
ฟันทั้งหมด 
16  ซี่ 
ตัวเมียเจริญพันธุ์
6-10 สัปดาห์
วงรอบการเป็นสัด 
ทุกๆ  4  วัน !!!




       หนูแฮมสเตอร์ เป็นสัตว์ที่ตั้งท้องได้เร็วมากนะครับ ถ้าผู้เลี้ยงไม่ได้วางแผนการคุมกำเนิดให้ดี เชื่อผมมั้ยครับว่าภายในไม่เกินหกเดือน จะมีลูกหนูให้เลี้ยงเป็นร้อยตัวเลยล่ะครับ 

แผนการคุมกำเนิดหนูสามารถปรึกษาคุณหมอสูตินารีสัตว์แพทย์ได้นะครับ( เรียกใหู้ยาวจริงๆก็สามารถปรักษาสัตว์เเพทย์ผู้ทำงานเกี่ยวกับ exotic pets ได้ครับ ) เชื่อมั้ยครับว่า หนูแฮมสเตอร์ สามารถทำหมันได้นะครับ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ถ้าต้องการคุมกำเนิดแบบถาวรครับ 

เคสนี้ก็เป็นอีกเคสนึงที่ผมได้ผ่าคลอดสัตว์ที่เล็กที่สุดในชีวิต ในอนาคตไม่แน่ใจว่าจะได้ผ่าคลอดสัตว์ชนิดไหนที่เล็กกว่านี้อีก ไหมที่เย็บเชื่อมั้ยครับว่าเล็กกว่าเส้นผมอีกครับ หายใจทีไหมแทบปลิวครับ ต้องกลั้นหายใจเวลาเย็บ เพราะเดี๋ยวหายใจแรงไปไหมจะหายได้ ^^ 

วันนี้พอแค่นี้ก่อนครับ แล้วเจอกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ ช่วงนี้งานเข้าเยอะครับเพราะต้องเตรียมสอน และวันพุธนี่ก็ต้องไปสวนเสือเพื่อไปดูตาเสือกับทีมหมอที่มหิดลอีกครับ...เอาใจช่วยให้ผมได้กลับมาครบ 32 ด้วยนะครับ 33 ก็ไม่เอานะครับ  ไม่อยากมีเขี้ยวเสือเพิ่มมา ^^ 


นี่เป็นแว่นขยายที่ใส่แล้วมึนตึ๊บเลยครับ ... ลองนับดูซิครับว่าผมมีกี่ตา :) 

ปล.ขอให้บ้านเมืองสงบเร็วๆนะครับ จะได้ไปพารากอนกะเค้าซะ

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Help Ham please!! ช่วยหนูด้วย...

        วันนี้มีเคสมาเล่าให้ฟังครับ เป็นหนูแฮมสเตอร์ อายุ น่าจะประมาณ เดือนนิดๆ ครับ น้ำหนัก ก็ไม่เท่าไหร่ แค่ 20 กรัมเองครับ เจ้าของพึ่งได้มาจากตลาดนัด แต่พอเลี้ยงได้ 2 วันก็มีอาการ ท้องเสียถ่ายเหลว หลังจากถ่ายเหลวได้  1 วัน  ก็มีอาการ มีลำไส้โผล่ ออกมาจากก้น...เจ้าของจึงรีบพามาหาผมให้ช่วยรักษา 
พอเปิดกล่องที่เจ้าของใส่กล่องมาเพื่อตรวจร่างกาย เห็นสภาพแล้วค่อนข้างน่าสงสาร หนูแฮมสเตอร์ ครับ เพราะว่า ตัวเล็กนิดเดียวเอง และมีลำไส้โผล่ ออกมาจากก้นด้วย 
          ทำการตรวจร่างกาย ตอนแรกนึกว่าเป็นแค่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโผล่ออกมาเฉยๆ (Rectal prolapse) แต่พอตรวจให้ละเอียดพบว่าเป็นลำไส้เล็ก ที่โผล่ออกมา จากสาเหตุลำไส้กลืนกัน (Intussusception) ซึ่งขั้นตอนการวินิจฉัย ในโรคนี้จะมีทริค คือ ต้องแยกให้ออกว่าเป็นลำไส้ส่วนไหน โดยใช้อุปกรณ์ช่วยครับ อาจจะใช้ แท่งปรอท หรืิอแท่งอะไรก็ได้ที่ไม่คม แหย่ไปข้างๆ ลำไที่โผล่ออกมา เพื่อดูว่าสามารถ แหย่เข้าไปลึกได้แค่ไหน ถ้าเข้าไปได้ลึก ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นอาการ ของภาวะ ลำไส้กลืนกัน 
ทำไมต้องแยกอาการ  2  อาการนี้ออกจากกัน ยัดกลับแล้วเย็บปิดเลยไม่ได้เหรอ .. ตอบแบบฟันธงว่าไม่ได้ครับ เพราะว่าการวินิจฉัย จะเป็นการชี้แนะแนวทางการรักษาครับ โดยถ้าเป็นลำไส้ใหญ่โผล่ออกมา (Rectal prolapses) การรักษาจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน ครับ โดยทำความสะอาดลำไส้ที่เปรอะ และพยายามยัดกลับเข้าไป และเย็บ รั้งรูทวาร ไว้ไม่ให้ลำไส้โผล่ออกมา แต่อุจจาระ สามารถ ออกได้นะครับไม่ใช่เย็บปิดแบบเย็บตายนะครับ  แล้วก็รอให้การอักเสบลดลง ค่อยตัดไหม ครับ 
แต่ถ้าเป็นลำไส้กลืนกัน (Intussusception) การรักษาจะยากกว่ามากครับ เพราะต้องทำการเปิดช่องท้องเข้าไปเพื่อหาตำแหน่งที่ ลำไส้มีความผิดปกติ คือมีการกลืนกันเข้าไป พอนึกภาพการกลืนกันของลำไส้ออกมั้ยครับ คือเหมือนกับลำไ้ส้ส่วนที่ใหญ่กว่าเกิดการ ซ้อนทับไปกับลำไส้ส่วนที่เล็ก ทำให้เกิดการอุดตัน อาหารไม่สามารถผ่านได้ และ สัตว์จะมีอาการปวดท้องอย่างมากครับ  พอเปิดช่องท้องเข้าไปแล้ว เมื่อเจอตำแหน่งก็พยายามแก้ไขโดยการดึงแยกออกจากกัน ให้เหมือนปกติ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็อาจจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เสียหายทิ้งไป และ ทำการตัดต่อลำไส้แทน ... แค่คิดภาพก็ยากแล้วครับ 
ตอนนี้สรุปกับเจ้าของได้แล้วว่า เป็นอะไรแนวทางการรักษาทำได้อย่างไรบ้าง 
  1. อาการที่พบเป็นลำไส้กลืนกัน 
  2. การรักษาต้องผ่าตัดเท่านั้น 
  3. มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูงเนื่องจาก สัตว์ตัวเล็กมาก และค่อนข้างอ่อนเพลีย จากภาวะท้องเสีย แลเสียเลือดจากแผลที่ลำไส้ 
ถ้าคุณผู้อ่านเป็นเจ้าของจะตัดสินใจยังไง...รักษา หรือ ซื้อตัวใหม่ ???   ซื้อตัวใหม่ก็แค่ 80 บาท รักษาผ่าตัด อาจจะแพงกว่าซื้อตัวใหม่ก็จริง แต่ความผูกพันธ์ มันซื้อ(ความรัก)ไม่ได้นะครับ มันไม่ใช่ตัวที่เราเคยเลี้ยง ... 
สรุปเคสนี้ได้ทำการผ่าตัดครับ โดยต้องใช้แว่นขยายช่วยในการผ่าตัด  เพราะว่า ลำไส้น้องหนูเค้าเล็กมากๆ โชคดีที่เคสนี้ไม่ต้องมีการตัดต่อลำไส้ไม่เช่นนั้นคงต้องใช้กล้องจุลทรรศน์มาช่วยขยายแล้วครับ ^^  แว่นขยายที่บอกนี้ไม่ใช่แว่นขยายแบบที่เชอร์ลอคโฮมถือนะครับ มันเป็นแว่นขยายทางการแพทย์ ที่ต้องใส่คล้ายๆแว่นตาน่ะครับ  จากที่ผมต้องใส่แว่นอยู่แล้ว ก็ต้องใส่ซ้อนกันไปอีก จาก  4 ตา ก็กลายเป็น 8 ตา  8 ตาจริงๆ ครับ ไม่ได้นับผิดหรอกครับ ใส่ช่วงแรกนี่แทบมึน .. ก็มันไม่เคยต้องใส่ครับเพราะยังหนุ่มยังแน่นอยู่ครับ ^^ 
การผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดีครับ นับว่าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างพอใจทีเดียวครับ แต่โชคร้ายที่ขณะหนูกำลังจะฟื้นนั้น เกิดภาวะช็อคไป และทำการช่วยชีวิต อย่างเต็มที่แล้วก็ไม่สามารถช่วยได้ ...
หลังจากที่หนูเสียชีวิต เราก็มาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ หลายข้อซึ่งเป็นข้อที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การให้น้ำเกลือ ขณะผ่าตัด เป็นไปไม่ได้ที่จะให้น้ำเกลือ เข้าเส้นเลือดหนูขณะผ่าตัด หรือ รอให้สภาพหนูพร้อมก่อนผ่าตัด ซึ่งในรายนี้ไม่สามารถรอได้ การให้ยาลดปวด และอื่นๆอีก 
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเคสนี้ คือ เมื่อสัตว์มีอาการท้องเสีย อย่านิ่งนอนใจ เพราะเมื่อท้องเสียมากๆ อาจจะเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะในกระต่าย และ ชินชิล่า  อาการท้องเสียนั้นเป็นอาการที่อันตรายมากในลูกสัตว์เพราะเพียงแ่ถายเหลวไม่กี่ครั้งอาจจะทำให้เกิด เพลีย สูญเสีย แร่ธาตุและน้ำได้ครับ เปรียบเป็นตัวเราเอง แค่ท้องเสีย 3 ก็แทบจะคลานออกจากห้องน้ำแล้วครับ ... เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วจะทำให้เรามองเห็นมุมมองอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยมองครับ 

มารู้จัก ตุ๊กแกเสือดาวกันหน่อยดีมั้ยครับ ..Leopard Geckos ..


       สวัสดีครับ วันนี้ ผมมีสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษที่จะมาแนะนำให้้รู้จักกันครับ บางคนก็บอกว่า น่ารัก บางคนก็บอกว่าน่าเกลียด บางคนก็บอกว่า น่ากลัว  สำหรับสุภาพสตรี เกือบทั้งร้อยจะบอกว่า น่ากลัว นั่นก็คือ ตุ๊กแก ครับ แต่ตุ๊กแกที่ผมจะแนะนะฉบับนี้ไม่ใช่ตุ๊กแกบ้านที่เราเจอกันบ่อยๆ ตามฝาบ้าน หรือผนังห้องน้ำหรอกครับ แต่เป็นตุ๊กแกของต่างประเทศที่นำเข้ามาเลี้ยงกัน คือ ตุ๊กแกเสือดาว หรือ Leopard Geckos ครับ ชื่อวิทยาศาสตร์ ของ เจ้าตัวนี้ก็คือ  Eublepharis macularius  ซึ่งถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ ของเจ้าตัวนี้ก็คือ  อาฟานิสถาน  อินเดีย ปากีสถาน  แต่ในปัจจุบันนี้ เราสามารถเพาะพันธุ์ได้เองแล้วครับ โดยเฉพาะในประเทศไทยก็มีคนที่สามารถพาะพันธุ์ ได้เช่นกัน คราวนี้เรามารู้จักวิธีเลี้ยงดู ดูแลกันดีกว่าครับ 
การเลี้ยงดูเริ่มจากการหาที่อยู่อาศัยให้ตุ๊กแกเสือดาว โดยปกติอาจจะใช้เป็น ตู้เลี้ยงปลา ก็ได้โดยให้มีขนาดที่ เพียงพอต่อการใช้ชีวิตซึ่งปกติ ควรให้ตู้มีขนาด 10 gallon หรือใหญ่กว่า  โดยสามารถ เลี้ยงเป็น กลุ่มได้ แต่ในกลุ่มนั้น ควรจะมีตัวผู้เพียงตัวเดียว เพราะเมื่อตัวผู้ โตเต็มที่ จะค่อนข้างก้าวร้าว และห่วงถิ่นอาศัย หรือถ้าไม่เลี้ยงในตู้ปลา ก็อาจจะเลี้ยงโดยใช้กรงได้ โดยมีขนาดที่เเนะนำคือ 36’’x 15’’ x 12 ‘’  ส่วนความสูง อาจจะลดลงมาได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 6’’ และ กรงที่เลี้ยงควรมีการระบายอากาศที่ดี  ส่วนสิ่งปูรอง อาจจะใช้ หนังสือพิมพ์ หรือ กระดาษรองซับ ก็ได้ในกรณีที่ไม่ต้องการความสวยงาม แต่ต้องการเก็บทำความสะอาดง่าย หรืออาจจะใช้ วัสดุจากธรรมชาติ มาปูรองก็ได้ เช่น เปลือกไม้, ซังข้าวโพด หรือ ทราย อาจจะใช้ ทรายสำหรับสัตว์เลื้อยคลาน (ต้องระวังการอุดตันของลำไส้เมื่อสัตว์กินเข้าไป) 
สิ่งที่สำคัญเช่นกันและขาดไม่ได้ก็คือ  hind box หรือ บ้านที่เอาไว้หลบ ควรจะมีเพราะเอาไว้เพื่อให้ตุ๊กแกได้หลบเวลาเครียด หรือพักผ่อน โดยอาจจะต้องมีการเพิ่มความชื้นในกล่องนี้ เพราะเมื่อตุ๊กแกโตถึงขนาดหนึ่ง จะต้องมีการลอกคราบ เพื่อให้ เพื่อให้เกิดการลอกคราบเป็นไปอย่างสมบูรณ์ 
อาหารการกินของพวกตุ๊กแกเสือดาว ส่วนใหญ่ที่ให้มักจะเป็น แมลง หรือ หนอน ต่างๆ ครับ  แต่ก็สามารถฝึกให้ทานอาหารอื่นๆ ได้เช่นกัน สำหรับ คนที่ไม่กล้าให้สัตว์ที่มีชีวิต ก็จะมีอาหารกระป๋อง ที่บรรจุ พวก หนอน จิ้งหรีด ขายครับ  คนเราบางคนยังชอบกินหนอน(รถด่วน) กินตั๊กแตนทอด และอื่นๆ ตุ๊กแก ก็คงอยากจะกินอย่างนั้นบ้าง อย่าไปตั้งแง่รังเกียจว่า กินแต่หนอน เลี้ยงไม่ลงเลยครับ และการให้อาหารที่ดีนั้น ในตุ๊กแกเด็ก อาจจะให้วันเว้นวันได้ครับ ส่วนตัวที่โตเต็มที่สามารถให้ อาทิตย์ละ 2-3  ครั้งได้ครับ และพยายามให้อาหารในจานเท่านั้นเพราะป้องกัน การที่ตุ๊กแกอาจจะกินสิ่งปนเปื้อน หรือสิ่งปูนอน เข้าไปได้ครับ  การเสริมวิตามินนั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยอาจจะเสริม แคลเซี่ยมผง ให้ตุ๊กแกโดยตรง หรือทำการเสริมวิิตามิน ให้โดยผ่านทางเหยื่อก็ได้ครับ โดยให้เหยื่อทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ก่อนจะให้ตุ๊กแกเป็นเวลา 24 ชม เราเรียกวิธีนี้ว่า gut load  
การให้แสงไฟ และความอบอุ่นแก่ สัตว์เลื้อยคลานนั้น  โดยสัตว์เลื้อยคลานนั้นเป็น สัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิสามารถ เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการให้ความอบอุ่นเป็นสิ่งจำเป็นต่อสัตว์เลื้อคลานทั้งหลาย  แต่ตุ๊กแกเสือดาวนั้นต้องการอุณหภูมิประมาณ 30 ° เซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิ ปกติในประเทศไทยอยู่แล้ว ยกเว้นช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิ ในประเทศไทย เกือบจะ 40  ° เซลเซียส  หลักการให้ความอบอุ่นที่ดีนั้น ควรจะให้ความร้อนเข้าที่มุมของตู้ และค่อยๆ ไล่ไปจากร้อนสุด ไปเย็นสุด เพื่อให้สัตว์ได้มีสิทธิ์ ในการเลือก อุณหภูมิ ที่สัตว์นั้นชอบเองซึ่ง ความร้อนที่ว่านี้อาจจะใช้หลอดไฟ แผ่นให้ความร้อน หรือ
อุปกรณ์อื่นๆ ตามสมควร ส่วนแสงไฟและ UVB นั้น อาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่ใน ตุ๊กแก เพราะโดยธรรมชาตินั้น ตุ๊กแกเป็นสัตว์หากินกลางคืนอยู่แล้ว แต่การเพิ่มลดแสงไฟนั้นเพื่อ ให้ ตุ๊กแก ได้อยู่เหมือนในธรรมชาติ ที่มีกลางวันกลางคืน เพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณ ตามธรรมชาติ 
การจับตุ๊กแกเพื่อตรวจหรือนำมาเล่นนั้น ต้องระมัดระวังหาง เพราะถ้าจับแรงเกินไป หรือ เครียด มากเกินไปอาจจะ สลัดหางได้ เหมือนจิ้งจก และหางที่งอกใหม่นั้น จะไม่สวยงามดังเดิม และที่แปลกอีกอย่างคือ ตุ๊กแกเสือดาว ที่เท้าจะไม่เหมือนตุ๊กแกหรือจิ้งจก เพราะปลายนิ้วจะไม่ค่อยมี adhesive lamellae  ทำให้ไม่สามารถเกาะกำแพง หรือ ปืนป่ายได้ดีเหมือนจิ้งจกครับ 
นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับ Leopard geckos  ซึ่งจริงๆแล้ว การเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน เป็นการเลี้ยงที่ไม่ต้องยุ่งยากเท่ากับการเลี้ยงสัตว์เลือดอุ่น เช่น สุนัข หรือแมว สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลสัตว์ การเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ 

 ปล.เห็นตุ๊กแกยิ้มมั้ยครับ ^^ 

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

ฺ หลับให้สบาย นะหมูกรอบ ... Base on true story

  สวัสดีครับ วันนี้มีเรื่องจะเล่าให้ฟังเล็กน้อยล่ะครับ..เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่าค่อนข้างสะเทือนใจกับผมเหมือนกันครับ  หมูกรอบ เป็นกระต่ายที่ค่อนข้างแข็งแรง ไม่ค่อยจะป่วยอะไรเท่าไหร่ นอกจากจะมีปัญหาฟันยาวบ้างในบ้างครั้ง 
วันที่ผมเจอหมูกรอบครั้งแรกนั้นเป็นวันที่ 12 สค 51 ตรงกับวันแม่พอดีเลยครับ หมูกรอบมีปัญหาฟันยาว ก็ทำการตัดฟัน ให้ และ ก็มาตัดตกแต่งฟันเรื่อยๆ จนหลังๆ หมูกรอบก็หายจากปัญหาฟันยาว ก็ไม่ค่อยได้เจอหมูกรอบเท่าไหร่  มาเจอกันอีกทีก้ปัญหา มีฝีที่เท้า แต่พอกรีด ทำแผล กินยา หมูกรอบก็หาย เป็นปกติดี ... หมูกรอบแข็งแรงมาก 
วันก่อนที่หมูกรอบไม่สบาย  มีอาการซึม ตรวจร่างกายทุกอย่างค่อนข้างปกติดี เพียงแต่มีแก๊สเล็กน้อยที่บริเวณลำไส้  เลยเจาะเลือดตรวจร่างกาย เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรที่ผิดปกติที่แอบแฝงอยู่หรือเปล่า กลับไม่พบความผิดปกติอะไรเลย ก็ทำการรักษาเรื่องแก๊สที่ผิดปกติให้ โดยหวังว่า หมูกรอบ จะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมในอีก 2-3 วัน 
วันรุ่งขึ้นได้รับโทรศัพท์ว่าหมูกรอบอาการไม่ค่อยดี ไม่ค่อยยอมกลืนอาหารเลย และใบหูเย็นกว่าปกติ ทำให้รู้สึกว่าหมูกรอบต้องมีปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายในแน่นอน จึงรีบเข้าไปที่โรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุว่าที่แท้จริงนั้นหมูกรอบเป็นอะไรกันแน่ 
ตอนที่เจอหมูกรอบวันนั้น ดูค่อนข้างอ่อนแรง ไม่ค่อยดื้อเลย จับท่าไหนอยู่ท่านั้น ลองวัดไข้ดูก็ไม่พบว่ามีไข้ ลองคลำท้องดู รู้สึกว่าเค้าปวดท้อง และเกร็งท้อง ฟังเสียงหัวใจ เต้นช้าและเบากว่าปกติ ฟังเสียงปอด ก็ผิดปกติไป ซึ่ง ตรงกันข้ามกับเมื่อวานโดยสิ้นเชิง จึงทำการตัดสินใจตรวจ อิเลคโตรไลท์ ในกระแสเลือด  ขณะทำการเจาะเลือดนั้น พบว่าแรงดันเลือดต่ำมาก ทำให้เลือดไม่ค่อยไหลออกมาในหลอดเก็บเลือด และจากการตรวจพบว่า สมดุล ในกระแสเลือดนั้นผิดปกติ ค่อนข้างมาก โดยที่สำคัญ คือ มีความเป็น กรดในกระแสเลือดค่อนข้างสูงกว่าปกติ ค่า โซเดียม และ คลอไรด์ ต่ำ กว่าปกติ  ค่า โพทัสเซี่ยมต่ำ และยังมีอื่นๆที่ผิดปกติอีก แต่ไม่รุนแรงเท่า ค่าต่างๆที่กล่าวไปในเบื้องต้น ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างวิกฤต มากในขณะนั้น ต้องรีบทำการแก้ไขโดยด่วน 
หลังจากเตรียมยาเสร็จเรียบร้อย กำลังจะนำเค้าขึ้นไปไว้ที่พัก หมูกรอบเกิดอาการหายใจลำบากขึ้นมาและเหมือนกำลังใกล้จะช็อค จึงรีบนำมาให้ออกซิเจนและช่วยชีวิต โดยทำการให้ยากระตุ้นหัวใจ และยาอื่นๆอีก เท่าที่ จะสามารถให้ได้ และช่วยหายใจ พร้อมทั้งกระตุ้นหัวใจ แต่อาการหมูกรอบ ดูจะแย่ลงเรื่อยๆ ไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้ไป และสุดท้ายหมูกรอบ ก็ไม่ไหว จากไปอย่างสงบ  ความรู้สึกตอนนั้นของผม มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก รู้สึกเสียใจ  ปน กับความรู้สึกที่ว่า หมูกรอบเป็นอะไร ทำไมถึงเสียชีวิต ผมไม่สามารถ ตอบตัวเองได้ 
ผมเข้าใจถึงความสูญเสีย ไม่ว่าสัตว์ตัวนั้นจะเป็นอะไร กระต่าย หมา แมว หรือสัตว์อื่นๆ แต่ผมก็ไม่รู้จะปลอบใจเจ้าของยังไงดี ได้แต่ให้เจ้าของนั้นอยู่กับ หมูกรอบสักระยะหนึ่งก่อนที่จะเข้าไปพูดคุยและสุดท้าย เพื่อเป็นการไม่ให้หนึ่งชีวิต ต้องเสียเปล่า จึงทำการตัดสินใจร่วมกับพี่ติ๋ว ซึ่งเป็นเจ้าของกระต่าย  เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุการตาย เพื่อเป็นการป้องกันและเพื่อกระต่ายตัวอื่น บนโลกใบนี้ต่อไป 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือครั้งแรกหลังจากเปิดช่องท้องคือ พบมีเศษอาหารเล็กน้อยในช่องท้อง ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นไม่ควรพบลักษณะ อย่างนี้ ในกระต่ายปกติ และ พบ ว่ามีก้อนขน ขนาดเล็กๆ น่าจะประมาณ ไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร ( ในต่างประเทศ เค้าเรียกลักษณะนี้ว่า Hair pellet ) หลุดออกมาอุดตันลำไส้ และติดอยู่กับบริเวณ ลำไส้ส่วนที่แตก ออก และเศษอาหารที่ออกมานั้นเองทำให้เกิด ปัญหาช่องท้องอักเสบติดเชื้อ รวมถึงตับที่มีการเสียหายเป็นบางส่วนด้วย 
อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นอาการที่พบได้น้อยและได้ค่อนข้างยากมาก แต่ก็มีอุบัติการเกิดขึ้นได้ในกระต่ายที่ขนยาวและแต่งตัวมากกว่าปกติเหมือนกัน  คราวนี้มาดูถึงสาเหตุการเกิดกันดีกว่าครับ ว่าเกิดจากอะไร เพื่อจะได้ป้องกัน ไม่ให้เกิดกับกระต่ายตัวอื่นๆครับ 
เราเรียกอาการอย่างนี้ว่า ก้อนขนอุดตันลำไส้ (Hair pellet obstruction) ซึ่ง อาการอย่างนี้ จะแตกต่างกับ โรคก้อนขนที่(Hair ball) เราพูดถึงการบ่อยๆนะครับ  โดยโรคก้อนขน หรือ Hair ball นั้น ผมจะ พูดถึงในโอกาสต่อไปในครับ ปกติแล้วนั้นกระต่ายจะมีการแต่งตัวเพื่อเลียขนตัวเอง อยู่แล้วในธรรมชาติ และ ในกระต่ายที่ทานอาหารเยื่อใยสูงๆนั้น มักจะไม่ค่อยพบโรคก้อนขนเท่าไหร่ เพราะว่าจะมีการขับขนออกมา พร้อมกับอุจจาระ ที่เป็นอุจจาระในตอนกลางวัน คือเป็นก้อนกลม คล้ายลูกกลอนนั่นเอง ถ้าเราเอาอุจจาระมาบี้ ดู จะพบลักษณะ ของเศษหญ้า และเศษ ขน ปนกันไป และอย่างที่เราทราบกัน ว่ากระต่ายจะมีการกินอึ ที่เป็นพวงองุ่น กลับเข้าไปด้วย โดยการกินอึเข้าไปนี้ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมน และ อื่นๆ  ทีนี้ ถ้ากระต่ายตัวนั้น โชคร้าย ในขณะที่ทานอึพวงองุ่น กลับเข้าไป แต่เกิด ทานอึก้อนปกติที่เป็นอึปกติ แต่ข้างในมีขนอัดแน่นเข้าไปอยู่ กระเพาะอาหารกระต่ายสามารถ ย่อยอึพวงองุ่นได้ แต่ไม่สามารถย่อยก้อนอึ ที่เป็นก้อนขนที่อัดแน่นในรูปุจจาระได้ ก้อนอุจจาระขน ดังกล่าวก็จะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหารต่างๆ ตำแหน่งที่มักพบมีการอุดตัน บ่อยๆก็คือ รอยต่อระหว่่าง กระเพาะกับลำไส้ส่วนต้น ซึ่งเป็น ตำแห่นงที่ ลำไส้จะมีขนาดเล็ก และอีกตำแหน่งคือ ตำแหน่งรอยต่อ ระหว่าง ลำไส้เล็ก กับ รอยต่อ ของ ซีคั่ม (ลำไส้หมัก) และ ลำไส้ใหญ่ ซึ่งคล้ายจะเป็น สามแยก ที่ มีโอกาส ติดของสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ได้ง่ายเช่นกัน 
การวินิจฉัยเป็นไปได้ค่อนข้างยากมาก นอกจากจะพบว่ามีการขยายใหญ่ของลำไส้ส่วนที่มีการอุดตัน และการรักษาทางยานั้นมักไม่ค่อยจะได้ผล จึงต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัด และความเสี่ยงขณะวางยาสลบในกระต่ายที่อ่อนแอนั้นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน 
ดังนั้นการป้องกันโรคนี้สำคัญที่สุดครับ เราจะป้องกันอย่างไร? จุดประสงค์ของการป้องกันโรคนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้ลดโอกาส การหลุดลอดของเส้นขนลงไปในทางเดินอาหาร และ ถ้าหลุดรอดลงไป ทำยังไง ให้เส้นขนออก มาจากลำไส้ได้ และเมื่อ ก้อนอุจจาระขน หลุดออกมาแล้วทำยังไงไม่ให้กินกลับเข้าไป  ฟังดูง่ายๆ ไม่ยาก แต่ทราบมั้ยครับว่า นี่แหละครับที่ทำได้ยาก 
เริ่มจากป้องกันไม่ให้ขนหลุดรอด ทำได้โดยการหมั่นแปลงขนบ่อยๆ ให้เส้นขนที่หมดอายุหลุดออกไปกับแปรง ไม่ใช่หลุดเข้าปากกระต่ายเมื่อกระต่ายแต่งตัวครับ  อย่างที่สอง เมื่อขนนั้นหลุดรอดเข้าไปแล้ว ทำยังไงให้ ขนออกมาจากลำไส้ได้ ง่ายที่สุดและไม่ต้องพึ่งยาใดๆ เลยก็คือ ให้ทานอาหารที่มีเยื่อใยอาหารมากๆ เช่น หญ้าขนสด หญ้าแห้ง หรือ อาหารเม็ดที่มี เปอร์เซ็นต์ Fiber สูงๆ ซึ่งในปัจจุบันนั้นก็มีหลายยี่ห้อ ให้เลือกกัน อย่างที่ สาม คือเมื่ออึออกมาแล้วทำอย่างไรไม่ให้กินอึที่เป็นขนกลับเข่้าไป ส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาตรงนี้แหละครับ เกิดได้โดยบางทีกระต่ายมีการแต่งตัวตามปกติ แต่มีอึที่เป็นก้อนขนติดอยู่ตามบริเวณก้น หรือ ขนรอบๆก้น กระต่ายก็อาจจะกินกลับเข้าไป โดยไม่ได้ตั้งใจ  ทีนี้ก็จะเหมือนกับที่อธิบายไว้ข้างต้นครับ ว่าก้อนนี้อาจจะไปติดเข้าที่ใดที่หนึ่งในทางเดินอาหารครับ 
ปล. ขอบคุณพี่ติ๋วที่ อนุญาต ให้พิสูจน์ หาสาเหตุการเสียชีวิตของหมูกรอบนะครับ ....  หลับให้สบายนะหมูกรอบ