facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นกติดกาวดักหนู .. เมื่อต้องเป็นสัตวแพทย์จำเป็น




                   นกติดกาวดักหนู..เมื่อต้องเป็นสัตวแพทย์จำเป็น 

                                                  By....น.สพ.เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล
นกกางเขนบ้าน 

สวัสดีครับ  เนื่องจากช่วงนี้เจอเคส สัตว์ติดกาวดักหนูบ่อยมาก โดยที่พบบ่อยๆ ก็คือ หนู (ก็ดักหนูนี่ครับ ) แต่บางทีหนูที่ เราเลี้ยงไว้ เช่นหนูแฮมสเตอร์ กระต่าย  นก หรือ สัตว์เลี้ยงอื่นๆ ก็สามารถติดได้เช่นกันครับ  
ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้น สามารถ ช่วยได้หลายวิธี เช่น การตัดขนที่ติดออก เช็ดเอา กาวออก ซึ่งแล้วแต่เจ้าของว่าต้องการแบบไหน แต่ในสัตว์บางชนิด เช่น นก คงไม่สมารถตัดขนออกได้ คราวนี้เรามาดูวิธีช่วยเหลือ และการเตรียมอุปกรณ์ ในการช่วยเหลือ 

  1. น้ำมันพืช หรือ เบบี้ออย  แต่ที่แนะนะคือ Corn oil เพราะจากประสบการณ์ จะใช้ได้ดีสุด 
  2. ถุงมือ  ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ และ กาวจากการช่วยเหลือ 
  3. สบู่อ่อนๆ อาจจะใช้สบูเด็ก ก็ได้ 
  4. เครื่องเป่าผม ถ้ามีที่ปรับลมร้อน หรือ ลมเย็นได้ด้วยจะดีมาก 
  5. ผ้าขนหนูที่ซับน้ำได้ เช่นผ้าชามัวร์ หรือ กระดาษทิชชู่  , คัตตอลบัด และผ้าก๊อซ  

      หลังจากหาอุปกรณ์ได้เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาลงมือทำแล้วครับ ..อันดับแรก ให้ใส่ถุงมือ  และ เอา น้ำมันมาชโลม บนถุงมือให้มันๆก่อนๆครับ ...  ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าสัตว์ติดกาวดักหนูมานานรึยัง อาจจะช่วยป้อนน้ำ หรือ เกลือแร่สักเล็กน้อยก่อน ในกรณีที่หาได้  ในกรณีที่พบสัตว์อยู่ในถาดที่มีกาว อย่าพยายาม ดึงออกโดยทันที เพราะอาจจะทำให้ขนที่ติดกาวหลุดออกได้ และ สัตว์จะเจ็บมาก ให้ค่อยๆ เทน้ำมันพืช หรือ เบบี้ออย เล็กน้อย บริเวณรอบๆตัว และรอให้กาวค่อยๆ ละลาย แล้วค่อยๆ ดึงออกมาเบาๆ ... ถ้าออกมาได้ ก็สำเร้จไปแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ครับ 

หลังจากนั้น เอาผ้าก๊อซ (จากประสบการณ์ใช้ดีมั่กๆ ) ชุบน้ำมันพืช และ ค่อยๆ เช็ดออกตามปลายปีก หรือ ปลายขน ให้ออกได้มากที่สุด และเปลี่ยนผ้าก๊อซ บ่อยๆ  ถ้าไม่มีผ้าก๊อซ อาจจะใช้กระดาษทิชชู่ และ คัตตอลบัดค่อยๆ เช็ดออก  โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการความระมัดระวัง ควรใช่คัตตอลบัด เช็ดออก 

หลังจากเช็ดออกเรียบร้อยแล้ว ก็เตรียมตัวอาบน้ำให้โดยใช้น้ำอุ่น ค่อยๆ อาบโดยผสมน้ำสบู่อ่อนๆ โดยค่อยๆอาบ และพยายามล้างออกให้มากที่สุด แต่ระวังอย่าอาบนานเพราะอาจจะทำให้ อุณหภูมิ สัตว์ต่ำเกินไป และทำให้ช๊อคได้  


หลังจากอาบน้ำแล้วก็ถึงเวลาเช็ดตัวให้แห้งโดยใช้ผ้าชามัวร์ หรือผ้าขนหนูซับน้ำ ออก ให้ได้มากที่สุด จากนั้นทำการเป่าตัวให้แห้ง โดยใช้ลมอุ่นๆ อย่าเป่าใกล้ และร้อนเกินไปนะครับ เดี๋ยวจะสุก 

หลังจากนั้น ถ้าตัวสัตว์แห้งดีแล้ว หากรงเล็กๆ ที่มีน้ำ หรือ อาหาร ใส่ไว้ เพื่อให้นกได้กินน้ำกินอาหาร หลังจากที่ติดกาวดักหนูมาเป็นระยะเวลานาน และรอให้ขนสัตว์แห้งสนิทเสียก่อน จึงค่อยปล่อย สู่ธรรมชาติ 

ในช่วงจังหวะที่นกน้อยที่เราช่วย เริ่มกระโดด และบินออกไปสู่ธรรมชาติ จะเป็นช่วงเวลาที่ทั้งเราและนกต่างก็มีความสุข 

สุดท้ายหวังว่าบทความนี้พอจะมีประโยชน์ ได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกตัวเล็กๆบ้างนะครับ 



                                



วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โรคพิษสุนัขบ้า ... บ้าตามข่าว "ความจริงของพิษสุนัขบ้า ในกระต่าย"


         






ช่วงนี้มีโทรศัพท์จากผู้ปกครองเด็กๆสอบถามกันเข้ามาเยอะมากว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดกระต่ายได้มั้ย คำตอบก็คือ ติดได้ครับ แต่โอกาสติดนั้นน้อยมากๆครับ หนึ่ง ใน ล้าน ก็ว่าได้ครับ แล้วถามว่า สัตว์อื่นๆ นอกจากกระต่ายนั้นมีสัตว์ชนิดใดบ้าง คำตอบคือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดสามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ทั้งนั้น ช้าง ม้า วัว ควาย  สุนัข แมว  หนู ค้างคาว ลิง ชะนี  แม้กระทั้ง ปลาวาฬ และ คน เห็นมั้ยครับว่าสัตว์ชนิดไหนก็เป็นได้ เพียงแต่ต้องรู้วิธีการป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ไม่ใช่ตื่นตระหนก ไม่กล้าเลี้ยงสัตว์ เพราะกลัวโรคนี้กันครับ 
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัส  (Rabies) ซึ่งสามารถติดต่อกันได้โดยทางน้ำลายของสัตว์ที่เป็นเข้าทางบาดแผล ... นั่นหมายความว่า โรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่ต้องโดนสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด จึงทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ดังนั้นใครที่เลี้ยงกระต่ายบนคอนโด ไม่ได้สัมผัสกับสัตว์อื่นเลย โอกาสที่ กระต่ายจะเป็นพิษสุนัขบ้านั้นก็คงน้อยประมาณ ซื้อล็อตเตอรี่ แล้วถูกรางวัลที่หนึ่ง ติดต่อกัน 2  งวดนั้นแหละครับ 
อาการของสัตว์ที่เป็นจะมีอาการอะไรบ้าง เชื้อพิษสุนัขบ้านั้นเป็นเชื้อที่ชอบอาศัยอยู่แถวๆระบบประสาท ดังนั้น อาการส่วนใหญ่จะแสดงออกทางระบบประสาทครับ เช่น 
1.มีไข้
2.มองไม่ชัด
3.กลืนอาหาร หรือ น้ำลำบาก 
4.น้ำลายไหลมากกว่าปกติ  คางห้อย 
5.เคลื่อนไหวร่างกายลำบากหรือร่างกายไม่สัมพันธ์กัน
6.พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น จากสุภาพไปเป็นก้าวร้าว  และอื่นๆ 
การป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้า  สามารถทำได้โดยการพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปฉีดวัคซืน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากับสัตวแพทย์  ซึ่งทำเพียงแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น 
การวินิจัยเมื่อสงสัย สัตวแพทยจะทำการ กักโรค สัตว์ที่สงสัยไว้ก่อนและเฝ้าสังเกตอาการสัตว์และเมื่อสัตว์นั้นมีอาการที่บ่งบอกว่าคล้ายพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ 
ข้อควรกระทำเมื่อถูกสัตว์กัด พยายามรีบล้างมือด้วยน้ำสบู่หลายๆรอบ จนกว่าจะแน่ใจว่าะอาด แล้วรีบพบแพทย์ เพื่อปรึกษา
สุดท้าย การที่จะบอกว่่าไม่ต้องกลัวโรคพิษสุนัขบ้า ในกระต่ายนั้น ก็คงไม่ใช่เพียงแต่โอกาสติดต่อนั้นน้อยมาก และการป้องกันการติดเชื้อก็สามารถทำได้โดยการพาไปฉีดวัคซีน ป้องกันพิษสุนัข ดังนั้น อย่ากังวลไปว่า กระต่ายที่เราเลี้ยงจะติดพิษสุนัขบ้า ถ้าเราเข้าใจโรคนี้ดีเพียงพอ และผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เลี้ยงกระต่าย ก็อย่านำกระต่ายไปปล่อยวัด หรือ ตามที่อื่นๆ เพียงเพราะว่ากลัวกระต่ายเป็นบ้า เลบนะครับ เพราะมันไม่ใช่ทางออกที่ดี และ จะเป็นบาป ติดตัวเราไปอีก 
หวังว่าบทความนี้จะช่วยกระต่ายให้พ้นปลอดภัยจากการถูกทิ้งและเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า  ขอบคุณครับ 
                                                                                                                   น.สพ.เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล