facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รักกระต่ายไม่ถูกทาง..เมื่อต้องซื้อยาคนให้กระต่ายกิน


  สวัสดีครับ เนื่องจาก ช่วงนี้พบคำถามที่เจ้าของมักถามหรือปรึกษาบ่อยๆว่า กระต่ายเป็นหวัด กินยาแก้ไข้เด็กได้มั้ยครับ กระต่ายท้องเสีย กินยาแก้ท้องเสียเด็กได้มั้ย กินเกลือแร่ ยาคูลล์ น้ำหวานหรือน้ำแดงได้มั้ย  วันนี้ผมมีคำตอบมาให้ครับ เรื่องการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม 
กระต่ายเป็นหวัดนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชนิดหลักๆ ซึ่ง เชื้อโรคเหล่านี้ ที่พบในคนนั้น สามารถ ใช้ยาปฎิชีวนะ ในกลุ่ม penicillins ในการรักษาเบื้องต้นได้ แต่ทราบมั้ยครับว่า ยาในกลุ่มนี้ มีข้อควรระวัง และห้ามใช้ในกระต่าย ครับ ดังนั้นการเลือกยาเอง โดยไม่ปรึกษา สัตวแพทย์ มีโอกาสที่จะทำให้กระต่าย ได้รับยา ที่เกินขนาด หรือยาผิดประเภทได้ ซึ่งถ้า ร้ายแรง อาจจะทำให้กระต่าย มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง เนื่องจากยาจะไปทำลายจุลชีพ ในทางเดินอาการกระต่าย และอาจจะทำให้ถึงตายได้ เลยนะครับ 
funny cute rabbit
กระต่ายท้องเสียนั้น หาซื้อยามาให้เอง หรือให้ยาคนได้มั้ย คำถามนี้ก็ พบบ่อย แต่กระต่ายท้องเสียมีหลายสาเหตุ ครับ อาจจะเกิดจากอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น มีแป้ง เยอะไป ให้ทานแต่ขนม หรือ ไฟเบอร์ ในอาหารไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุ ของท้องเสียได้ครับ แต่ท้องเสียแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฎิชีวนะเลยครับ เพียงแค่ปรับการเลี้ยงดู ปรับอาหารเพียงเท่านั้น ก็จะ หายเองได้  ส่วนในกระต่ายเด็กนั้นมักพบปัญหา เรื่องการติดเชื้อบิด และอาหารไม่เหมาะสม ร่วมกัน ดังนั้น การวินิจฉัย เพื่อหาสาเหต ของโรคสำคัญที่สุดครับ ส่วนยาที่จะให้ ก็ต้องคำนวนให้ตามน้ำหนัก และ ความรุนแรงของโรค ครับ ไม่มีสูตรตายตัวว่าท้องเสียต้องให้ ยาชนิดนี้ อย่างเดียวครับ


น้ำหวาน ยาคูลล์  และเกลือแร่ของคน  กระต่ายทานได้หรือไม่  ถ้าถามว่าทานได้ หรือไม่ คงตอบ ว่า ได้แต่ไม่เหมาะสม และไม่แนะนำครับ ถามว่า ทำไม ในน้ำหวานนั้น มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมปริมาณ มาก การให้น้ำตาล กระต่ายทานนั้นมีผลเสีย มากกว่าผลดีครับ เนื่องจากแบคทีเรียในลำไส้นั้น จะนำน้ำตาลไปใช้ ก่อนที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้หมด จึงทำให้จำนวน แบคทีเรียก่อโรคเพิ่มปริมาณขึ้น ครับ ส่วนยาคูลล์ ก็เป็น ส่วนผสมของนมวัว น้ำตาล และแบคทีเรีย ที่ไม่จำเป็นและ ไม่พบในกระต่ายปกติ ดังนั้นการให้ทานนั้น ประโยชน์ อาจจะไม่มากพอที่จะให้ทานครับ แล้วน้ำเกลือแร่ ของคน นั้น เค้าผลิต มาเพื่อให้ คน ครับ ส่วนประกอบในนั้น จึงไม่เหมาะไม่สมกับกระต่ายมากนัก แต่ถ้ากระต่ายท้องเสียรุนแรง และฉุกเฉิน นั้น สามารถให้เพื่อชดเชยการสูญเสียเกลือแร่ และน้ำ ไปในเบื้องต้นก่อนพามาพบสัตว์เเพทย์ ก่อนได้ครับ 
สุดท้ายอยากจะขอบคุณผู้เลี้ยงทุกท่านที่สละเวลาอ่านบทความนี้จนจบ หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงเริ่มต้น และมวลกระต่ายทั้งหลาย 

ขณะไปเยื่ยมชมบู๊ท ของ Rabbit House ที่งานประชุมวิชาการ ที่ USA 
ด้วยความปรารถนาดี 
.สพ. เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เต่าติดเบ็ด ทำอย่างไรดี ... เมื่อหมอต้อง ผ่าตัดกระดองเต่า






     

 สวัสดีครับ วันนี้มาพบกับหัวข้อเต่าบ้างนะครับ   มีคนบ่นว่าอยากอ่่านเรื่องเต่าบ้าง ก็เลยจัดให้ตามคำขอนะครับ ว่ากันด้วยเรื่อง เต่าติดเบ็ดครับ 
ปกติแล้วเต่าไม่ใช่ปลาครับ ไม่มีคนที่ตั้งใจไปตกเต่าเท่าไปตกปลาหรอกครับ บางคนที่ขี้เกียจก็จะไปหย่อนเบ็ดทิ้งไว้ บางทีไม่หย่อนแค่ตัวเดียวนะครับ เล่นกันเป็น พวง เลยก็มีครับ  แล้วบางทีเต่าก้ไปแย่งอาหารปลาก้อาจจะเกิดอาการโชคร้ายกินเหยื่อที่วางไว้ ทำให้ติดเบ็ดเข้าไปครับ 
แล้วจะพบเจอเต่าที่ติดเบ็ดได้ที่ไหน บางทีเราก็พบได้ตามตลาดสด แถวๆวัดที่มีปล่อยเต่า หรือแถว ชายคลองที่เค้านำเบ็ดมาวางนั่นแหละครับ แล้วบางทีถ้าโชคดีของเต่าก็อาจจะเจอคนใจบุญ ขอซื้อเต่าที่เค้าตกได้นำมาให้สัตวแพทย์รักษานี่แหละครับ 
เต่าแก้มแดงมีสายเบ็ดยื่นออกมาจากปาก
การรักษาทำอย่างไรบ้าง แล้วจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ เอาเต่าใส่กะละมัง ให้มีน้ำเล็กน้อย แล้วรีบพามาพบสัตวแพทย์ครับ ทำเท่านี้จริงๆครับ อย่าพยายามช่วยเต่า โดยดึงเบ็ดออกเองนะครับ เพราะว่าจะยิ่งทำให้เกิดการฝังของเบ็ดแน่นขึ้นไปอีก หรือดึงแรงมากๆอาจจะทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย หรืออันตรายต่อชีวิตเต่าเลยนะครับ  และอีกอย่างคือ อย่าพยามพยามตัดเชือกหรือเอ็นที่ติดกับเบ้ดนะครับ เพราะจะทำให้สัตวแพทย์ ทำงานลำบากยิ่งขึ้นไปอีกเวลาต้องทำการรักษานะครับ คือเจอสภาพใดก็พามาสภาพนั้นเลยนะครับ 
หลังจากพามาพบสัตวแพทย์แล้ว สิ่งที่สัตวแพทย์จะทำก็คือ ทำการถ่ายภาพรังสีครับ โดยจะถ่่ายภาพรังสี 2 ท่า เพื่อประเมินว่าจะทำการรักษาอย่างไร บางทีอาจจะต้องทำการวางยาสลบหรือยาซึม เพื่อ ให้เต่าได้ยืดหัวเต็มที่ครับ 

กำลังจัดท่าเตรียมถ่ายภาพ x-ray 

เบ็ดอยู่ในตำแหน่งบริเวณคอ
เบ็ดอยู่ในตำแหน่งกระเพาะอาหารในเต่าหับ  


        หลังจากได้ภาพรังสีและประเมินแล้ว ถ้าอยู่บริเวณผิวๆ คือปาก อาจจะทำการดึงออกให้โดยจะมีเทคนิคในการดึงเบ็ดออกครับ แต่ถ้าอยู่ลึกบริเวณลำคอ อาจจะต้องทำการผ่าตัด โดยมี 2 เทคนิคที่ทำกันบ่อยๆคือ ดันให้เบ็ดทะลุออกมาแล้วตัดปลายทิ้ง แล้วจึงดึงเบ็ดที่เหลือออก หรือ ว่าอาจจะผ่าตัดกรีดเปิดเข้าไปเพื่อเอาเบ็ดออก ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับสัตวแพทย์เห็นสมควรและความถนัดของสัตวแพทย์แต่ละคนครับ 

เปิดผ่าบริเวณคอเพื่อนำเบ็ดออก
ตำแหน่งที่ยากที่สุดคือ ถ้าเบ็ดเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร  นอกจากเต่าจะเหงื่อตกแล้ว สัตวแพทย์ที่ทำการรักษา อาจจะเหงื่อตกมากกว่าเต่าอีกนะครับ เพราะว่าต้องเอาเบ็ดที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกนี่ไม่ใช้เรื่องง่ายเลยนะครับ  เพราะจะต้องทำการเปิดผ่ากระดองเต่าเข้าไป เพื่อเข้าไปหาตำแหน่งของกระเพาะอาหารซึ่งตำแหน่งของหัวใจของเต่าก็จะขวางการทำงานอีกครับ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ ... แต่เกิดเป็นสัตวแพทย์ต้องอดทนครับ  T-T 
รูปอวัยวะภายในของเต่า

ขั้นตอนการรักษาในเคสนี้ก็คือ วางยาสลบเต่าก่อนครับ โดยวางยาด้วยยาซึมก่อนครับหลังจากนั้นก็วางยาต่อด้วยแก๊สสลบครับ และก็ให้ยาลดปวดเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นขณะผ่าตัดครับ หลังจากหลับดีแล้วเราก็ทำการทำความกระดองส่วนที่จะผ่าตัดครับ โดยการขัดกระดองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อครับ ช่วงขั้นตอนนี้จะสำคัญมากครับ เพราะอาจจะมีเลขขึ้นมาได้!! เอ้ย ไม่ใช่ครับ เพราะจะเป็นการป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปสู่ช่องลำตัวขณะผ่าตัดครับ 

ขณะใช้อุปกรณ์พิเศษเปิดกระดอง 
หลังจากนั้นก็จะต้องเปิดผ่าเข้าไปโดยใช้เครื่องมือ ชนิดต่างๆครับ โดยเราจะเปิดเพียง 3  ด้าน อีกด้านหนึ่งเหลือไว้ให้ติดกับตัว เหมือนบานพับ เพื่อเวลาปิดกลับเข้าไปจะทำให้ทำงานได้สะดวกและแผ่นกระดองที่ผ่าไม่หลุดเข้าไปในช่องท้องครับ 

        หลังจากเราได้ตำแหน่งที่เบ็ดอยู่จากภาพรังสี แล้วก็ทำการเปิดผ่ากระดองเข้าไปครับ และเข้าไปหากระเพาะอาหารของเต่าจากนั้นทำการนำเบ็ดออกจากกระเพาะ แล้วทำการปิดกระดองครับ 
ฟังดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ตอนปิดกระดองนี้ จะต้องใช้ Epoxy-Resin รวมทั้ง fiberglass  ในการปิดกระดอง หรืออาจจะใช้เทคนิคอื่นๆก็ได้ซึ่งก็มีหลายวิธีในการซ่อมกระดอง 
หลังจากเปิดกระดองเป็นรูปบานพับ
               
ขณะนำเบ็ดออกจากตัวเต่า


หลังจากซ่อมกระดองแล้วก็ต้องรอกระดองให้เชื่อมกันโดยใช้เวลาในการหายอย่างน้อย 8-18 เดือน เชียวล่ะครับ นี่ขนาดเป็นแผลผ่าตัดที่สะอาดนะครับ แต่ถ้าเป็นแผลที่เกิดจากขับรถทับกระดองเต่าแตก แล้วต้องซ่อมแซม นี่ไม่อยากจะคิดเลยครับ 
เต่าหับที่ได้รับการรักษาแล้วทำการซ่อมกระดองเรียบร้อย
วันนี้ขอเท่านี้ก่อนนะครับ ใครอยากทราบเรื่องไหนมีอะไรคาใจก็ถามคำถามทิ้งไว้ได้นะครับ แล้วผมจะมาคลายปัญหาคาใจให้นะครับ 
รูปนี้ขณะไปเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับ สัตว์เลื้อยคลานที่ อเมริกาเมื่อ มกราที่ผ่านมา ครับ  ^^ 

                                    ทุกชีวิตเราดูแล
                        น.สพ.เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล 

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ทำไมลูกกระต่ายตายง่ายจังครับหมอ


สวัสดีครับ หลังจากหายหน้าหายตาไปหลายเดือน  เนื่องด้วยปีนี้เทรนด์กระต่ายมาแรง ไม่ว่าอะไรก็เป็นกระต่ายไปหมด ดีนะครับ ไม่จับแพนด้า  ไม่จับช้าง มาใส่ชุดกระต่าย ด้วยไม่งั้น ฮาตรึม ^^ 
เคสที่พบบ่อยในลูกกระต่าย คือ มาด้วยอาการชัก หมดแรง  และสุดท้าย ถ้าอาการหนักมากก็เสียชีวิตขณะเดินทางมาพบสัตว์แพทย์ก็มีครับ แล้วคำถามที่มักได้รับจากเจ้าของว่าทำไมถึงตาย เมื่อเช้า ยังกินผัก กินอาหาร และ ลัลล้า ดีอยู่เลย  
คิดว่าคนที่เริ่มเลี้ยงลูกกระต่ายส่วนใหญ่ มักจะต้องเคยพบประสบการณ์อย่างนี้มาบ้าง ส่วนคนที่ไม่เคยพบถือว่าโชคดีมากนะครับ  แล้วทำไมลูกกระต่ายตายง่าย ล่ะครับ ทุกอย่างมันมีเหตุผลครับ สาเหตุที่ลูกกระต่ายตายง่ายก็เนื่องจาก 

1.ลูกกระต่ายที่ว่านั้นเป็นลูกกระต่ายอายุเท่าไหร่ ที่คนขายบอกว่า อายุ   2  เดือนนั้น 2  เดือนจริงหรือเปล่า โดนคนขายหรอกขายกระต่ายเด็ก ที่ยังไม่อย่านมมาหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่ ที่โดนหรอกขายมาเป็นกระต่ายแคระ มักจะอายุไม่ถึงเดือนทั้งนั้น ... หรือว่า รู้เค้าหรอกแต่เต็มใจให้หรอก ... “ก็ลูกกระต่ายมันน่ารักนี่ ทำไงได้ ” 


2.แหล่งที่ซื้อ เชื่อใจได้หรือเปล่า  แหล่งที่ซื้อมีความสำคัญ เช่นกันครับ เพราะว่า แหล่งที่มาก็ต่างกัน การดูแลลูกกระต่ายของผู้ขายก็แตกต่างกัน เพราะต้นทุนแตกต่างกัน งง มั้ยครับ เช่น แหล่งที่ขายตามตลาดนัด ตามสะพานลอย หรือตามงาน แฟร์ ทั้งหลาย   เคยคิดมั้ยครับว่า เค้าไปรับกระต่ายจากไหนมา เดินทางมาไกลแค่ไหน แล้วอยู่ในกรงมากี่วัน ถ้าขายไม่หมด จะทำยังไง ยกกลับทั้งกรง หรือ รอพรุ่งนี้มาขายใหม่ อาหารที่ให้ ในกรง เปลี่ยนรึเปล่าขณะรอขาย ถ้าเป็นลูกกระต่ายยังไม่อย่านม จะป้อนนมให้เรามั้ย  ฯลฯ  ไม่ได้หมายความว่า ทุกที่เป็นอย่างนี้นะครับ เพียงแต่เราจะพบฟาร์มที่รับชอบยากสักหน่อย แต่ไม่ยากเกินกว่า งมเข็มในมหาสมุทรหรอกครับ 

3.การเลี้ยงดูฟูมฟักจากเจ้าของครับ ... อ่านไม่ผิดหรอกครับ ... กระต่ายตายจากเจ้าของเลี้ยงไม่เป็นครับ ไม่เข้าใจว่าความต้องการทางธรรมชาตของกระต่ายเป็นยังไง  บางทีเราได้ลูกกระต่ายมาก่อน ก่อนที่จะรู้จัก กระต่าย เสียด้วยซ้ำไป เช่นเดียวกับการ ให้ของขวัญ เป็นกระต่าย  อย่าให้ปีนี้เป็นปีชง ของกระต่ายเลยนะครับ อย่าทำบาป โดยไม่เจตนาเลยครับ 
นี่ก็เป็นเหตุผลคร่าวๆที่ลูกกระต่ายมักเสียชีวิตครับ คราวนี้มาฟังคำอธิบาย กันหน่อยครับว่าทำไม ลูกกระต่าย จึงตายจากเหตุผลข้างบน 
โดยปกติลูกกระต่ายนั้นหย่านมที่อายุ  ประมาณ หนึ่งเดือนครึ่งถึงสองเดือนนะครับ แต่ที่วางขายกันนั้น สาม อาทิตย์ ก็มีวางขายแล้วครับ  อาหารหลักของลูกกระต่ายนั้นคือ นม ครับ น้ำนมกระต่ายเป็นน้ำนมที่มหัศจรรย์มากนะครับ เป็นน้ำนมที่มีสารอาหารเข้มข้น จนไม่อาจจะหานมใดๆ ในท้องตลาดมาทดแทนได้ แต่ที่ใกล้เคียง ก็อาจจะเป็นนม แมว หรือ นมสุนัข ก็ได้ครับ  การที่เราแยกแม่กับออกลูกออกจากกันเร็วเกินไป ทำให้ ลูกกระต่าย ไม่ได้รับนมอย่างเพียงพอ คนขายก็จะให้แต่อาหารเม็ด หรือดีหน่อยก็อาจจะมีหญ้าแห้งเล็กน้อย ในกรง ถามว่า กระต่ายกินได้มั้ย กระต่ายเหมือนจะกินได้ครับ แต่อันที่จริง มันแค่แทะเล่นๆครับ ยังอยู่ในช่วงปรับตัว เริ่มหัดทานอาหารเม็ดเท่านั้นครับ แทะบ้าง  เล่นบ้าง ทิ้งบ้าง ตามประสากระต่ายเด็กครับ 
อาการที่กระต่ายชัก มักจะมาจากสาเหตุหลักๆคือ น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ หรือว่า อิเลคโตรไลท์ในกระแสเลือด ไม่สมดุล คำถามต่อมาว่า ทำไมน้ำตาลในกระแสเลือดถึงต่ำทั้งๆที่เห็นกินหญ้ากินผัก กินอาหารเม็ด ... คำตอบมันอยู่ย่อหน้าข้างบนครับ ถ้ายังหาไม่เจอผมจะอธิบายอีกทีให้เห็นภาพนะครับ ...

                                                                  
                                                                    เห็นภาพมั้ยครับ  ^^ 


โดยปกติในกระต่ายโตเวลาทานหญ้าทานอาหารเม็ด กระต่ายจะได้พลังงานจากอาหารโดยผ่านการหมักโดยจุลชีพที่อาศัยอย่างสมดุลกันในส่วนลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่า  “ ซีคั่ม ” เป็น  กรดไขมันที่ระเหยได้  (Volatile fatty acid) ซึ่งจะถูกดูด ซึมผ่านลำไส้ส่วนนี้ เป็นพลังงานหลักของร่างกาย และ ที่สำคัญ ในลำไส้ส่วนนี้ ยังเป็นที่สร้างอุจจาระพวงองุ่น ด้วยครับ และในอุจจาระพวงองุ่นนี้ ก็เป็นแหล่งพลังงานและแหล่งวิตามินที่สำคัญ ที่สำคัญอีกเช่นกัน และกระต่ายก็จะกินอุจจาระพวงองุ่นนี้กลับเข้าไปอีกรอบเพื่อ ดูดซึมพลังงานที่ลำไส้เล็กครับ  นั่นเป็นกระบวนการคร่าวๆของกระต่ายที่โต แต่ในกระต่ายเด็กเมื่อทานนม นมก็จะถูกย่อยและดูดซึมพลังงานผ่านลำไส้ได้เลยครับ ไม่ต้องไปหมักที่ลำไส้ครับ  แต่เมื่อกระต่ายเด็กต้องมาทาน หญ้า ต้องมาทานอาหารเม็ด สิ่งที่ตามมาก้คือ จุลชีพ ในลำไส้ ยังไม่มีเพียงพอ ในการหมักอาหาร เพื่อเป็นพลังงาน  ยังทานอึพวงองุ่นไม่เป็น  อึก็ตกลงไปในกรง พลังงานที่ควรจะได้ก้หายไปอีก เห็นมั้ยครับ กระต่ายกินได้ แต่ร่างกายไม่ได้พลังงานเข้าไปเลย พลังงานที่สะสมอยู่ในร่างกายกระต่ายเด็กก็ถูกนำไปใช้ จนหมด หลังจากนั้น สองสามวัน กระต่ายก็จะเริ่มหมดแรง มีอาการเกร็งตัว คอแหงน แล้วก็ชักครับ 
การรักษาหรือ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถ้ากระต่ายยังสามารถกลืนน้ำได้อยู่ อาจจะหาน้ำเกลือแร่ หรือ น้ำที่มี กลูโคส ค่อยๆป้อนให้กลืน แล้วรีบพามาพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป ถ้ามาแล้วมีคิวที่เยอะ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์ว่า กระต่ายชัก ต้องรีบรักษาด่วน เพราะทุกนาทีมีความหมายกับชีวิตนะครับ 
       นี่ก็เป็นเหตุผลคร่าวๆ อ่านแล้วบางช่วงอาจจะหนักไปบ้างก็ต้องขออภัยนะครับ  ถูกใจก็ให้กำลังใจผมหน่อยครับ  ^^ 

                   ถ้าคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์กรุณาเผยแพร่ ไปให้ทั่วด้วยครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ 
                                  ด้วยความปราถนาดี   น.สพ. เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล 
                                                     ทุกชีวิตเราดูแล .. ^^