facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระต่ายโดนเสกเข็มเข้าช่องปาก !!! โอ้วแม่เจ้า


        สวัสดีครับ วันนี้มีเคสมาเล่าให้ฟังครับ มีกระต่ายอยู่ตัวหนึ่งเจ้าของพามารักษาด้วยไม่กินอาหาร เหมือนจะอยากกินแต่ไม่กล้ากิน ได้รับการรักษาอาการยังไม่ดีขึ้น เจ้าของจึงพามาเพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุต่อไป 
อาการภายนอกของกระต่ายปกติดีมากเลย มีอาการร่าเริงเป็นปกติดี แต่สิ่งที่สังเกตุได้คือว่า มีน้ำลายไหลเปรอะใต้คางเล็กน้อย ซึ่งอาการดังกล่าวนั้น มีหลายโรคที่พบได้ เช่น ฟันกรามยาว ได้รับสารพิษ เป็น ฮีทสโตรก และอื่นๆ 
ทำการวัดไข้ ตรวจร่างกายภายนอก ไม่พบสิ่งผิดปกติ ทำการ X-ray เพื่ิอดูฟัน และ กะโหลก ว่า เป็นอย่างไรบ้าง 
หลังจากเห็นภาพ x-ray ถึงกับอึ้ง เพราะว่าพบโลหะคล้ายเข็มเย็บผ้า อยู่ในช่องปาก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเข็มนั้นทิ่มลึกลงไปขนาดไหน 
ภาพถ่ายรังสีวิทยา พบเข็มในช่องปากกระต่าย 
พบเข็มในช่องปาก (เริ่มเป็นสนิม)
ดังนั้นจึงตัดสินใจว่าต้องวางยาสลบกระต่าย เพื่อจะตรวจช่องปาก และ ตรวจฟัน พร้อมกันเลย การวางยาสลบในกระต่ายนั้นมีหลายวิธื แต่ ในเคสนี้เราเลือกการวางยาสลบแบบดมยาสลบเพราะจะปลอดภัยที่สุด  
หลังจากวางยาสลบและกระต่ายหลับดีแล้วนั้น ทำการเปิดปากก็พบว่าเข็มไปคาอยู่บริเวณเพดานปากซึ่งยังไม่ได้ทิ่มทะลุเข้าไปมากนัก ถือเป็นความโชคดีของกระต่ายและหมอ ที่ไม่ต้องผ่าตัดและกระต่ายก็ไม่เจ็บตัวด้วย 

 หลังจากเอาออกเข็มออกมาและรอประมาณ 10 นาที กระต่ายก็ฟื้นดี และ กลับไปกินอาหารได้ปกติ 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า กระต่ายกินได้ทุกอย่างแม้กระทั้งเข็มเย็บผ้า เมื่ออ่านบทความนี้จบนี้แล้วอย่าลืม เก็บบ้านให้สะอาดด้วยนะครับ 

ด้วยความปรารถนาดี 

น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล 

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นินทา ไรในหู กระต่าย โดย Dr_Aoy


Rabbit Ear mite (ไรในหู)


       สวัสดีครับห่างหายไปนานกับการอัพบล็อกนะครับ ช่วงที่ผ่านมา มีงานต่างๆเข้ามาค่อนข้างเยอะ ตอนนี้เริ่มว่างขึ้นแล้วครับ เลยมาอัพบล็อกให้หายคิดถึงครับ วันนี้จะมาเล่าเรื่องโรคอยู่โรคหนึ่งที่พบบ่อยมากๆในกระต่ายโรคหนึ่ง นั้นคือ ไร ในหูครับ ซึ่ง ชื่อโรคภาษาไทยเรียกว่า รูในไห .. เอ้ย ไรในหู ครับ ^^  แต่ฝรั่งเค้าเรียก ว่า  Ear mite และชื่อที่นักวิทยาศาสตร์ ตั้งให้คือ  Psoroptes cuniculi


จริงๆแล้วไรในกระต่ายมีหลากหลายชนิดครับ แต่ไรที่เป็นแล้วทำให้กระต่ายรำคาญมาก จนบางที ไม่กิน ไม่นอน เอาแต่สบัดหัว ไปมา ก็คือ ไรในหู ครับ บางคนยังนึกไม่ออกใช่มั้ยครับว่าเป็นยังไง ดูตามรูปข้างล่างครับ  เห็นมั้ยครับ ว่าน่ากลัวขนาดไหน 
หูของกระต่ายที่เต็มไปด้วยตัวไรในหู
คำถามที่พบบ่อยคือ แล้วกระต่ายติดมาจากไหน..ก็ติดมาจากกระต่ายนั่นแหละครับ ตอบอย่างนี้ ไม่ใช่กำปั้นทุบดิน แล้วครับ กำปั้นทุบหน้า(หมอ) แน่ๆเลย   การติดต่อของไรในหู นี้ติดกันได้หลายวิธีครับ  แต่วิธีหลักๆ 2 ข้อคือ 


  1.โดยการสัมผัสกันโดยตรงของกระต่ายครับ  ถ้ากระต่ายตัวที่เป็นโรค เล่นกับตัวที่ไม่เป็นโรค หรือ แม่กระต่ายที่เป็นโรค เลี้ยงลูก ลูกก็มีโอกาสติดสูงมากครับ 

  2.ติดจากสิ่งแวดล้อม  แล้วสิ่งแวดล้อมติดมาจากไหน ก็ติดมาจากกระต่าย แล้วกระต่ายติดมาจากไหน ก็จากสิ่งแวดล้อม  มันเป็นเหมือนวงจรอุบาทว์ครับ  สิ่งแวดล้อมก็คือถ้ากระต่ายเป็นแล้ว สบัดหู เกาหู ก็จะมีตัวไร หลุดออกมา ที่สิ่งแวดล้อม ถ้าเรารักษาแต้ตัวกระต่ายโดยไม่ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมก็มีโอกาสติดโรคซ้ำได้ครับ 

  คยสงสัยกันมั้ยครับว่าไรในหู ทำไมต้องไปอยู่ไปในหู แล้วกินอะไรเป็นอาหาร กินขี้หูรึ ก็ไม่น่าใช่ จริงๆแล้ว ไรพวกนี้จะกิน น้ำเหลือง เป็นอาหารครับ ไรจะกัดและรอกินน้ำเหลือง หลังจากกิน กระต่ายก็จะมีการคัน อักเสบ มากครับ นอกจากจะอาศัยอยู่กินในหูกระต่ายแล้ว ยังผสมพันธุ์กันในรูหูกระต่ายอีก ... ทำไปได้


    สงสัยไรจะนึกว่ารูหูกระต่ายเป็นเรือนหอชั้นดีซะละมั้งครับ นอกจากนี้ตัวไรในหูบางตัว ก็ยังมีการไปฮันนีมูน นอกรูหูอีกนะครับ คือไปที่ ใบหน้า และ ลำตัวก็ได้ ซึ่งเจอได้แต่ไม่บ่อยครับ 

การวินิจฉัย เค้าทำกันยังไง คือถ้าเห็นรอยโรคนี่ก็ 80 %  ไปแล้วครับ เพราะรอยโรคมันจำเพาะจริงๆ แต่ให้ชัวร์ก็ทำการขูดตรวจ เอาขี้หูและคราบสะเก็ดไปส่องตรวจ ก็จะเจอ ครอบครัวตัวไรหูครับ 
ใบหูซึ่งมีไรในหูทำให้ใบหูอักเสบและเจ็บมาก
การรักษา เราสามารถรักษาได้หลายวิธีครับ มีทั้ง ฉีดยา หรือ  หยดยา ครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าฉีดยาก็ ทุกๆ 14 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง หรือ หยดยาก็เช่นเดียวกันครับ ข้อห้ามก็คือ ห้ามแคะแกะเกา เอาคราบในหูออกเป็นอันขาด เพราะกระต่ายจะเจ็บครับ ปล่อยไว้ สัก สองอาทิตย์เดี๋ยวคราบที่หูก็จะหลุด ออกมาเองครับ 

     อาการหลักๆที่มักจะพบได้ก่อนที่กระต่ายจะแสดงอาการมากก็คือ  
1. สบัดหัว 
2. เกาบริเวณหัวหรือหูมากกว่าปกติ  
3.ขนร่วงที่บริเวณใบหูหนึ่งหรือสองข้าง 
4.เจอคราบแดงๆในรูหู
5.กระต่ายหัวเอียง เดินเซ และ มีอาการชัก 

  การรักษาให้หายไม่ยากครับ ถ้าวินิจฉัยถูกต้อง และเจ้าของพากระต่ายมาตามนัดครับ โรคนี้บางทีถ้าตัวไรมีปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นในได้ และอาจจะทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมาได้ครับ ถ้าพบอาการดังกล่างอย่างข้างต้น ก็อย่านิ่งนอนใจ รีบพามาพบสัตวแพทย์นะครับ 

 แล้วครั้งหน้าผมจะมานินทาเจ้าตัวไรชนิดอื่นๆให้ฟังใหม่นะครับ 

                     น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล  (หมออ้อย)

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กระต่ายร้องไห้ได้ด้วยหรือ ..เมื่อท่อน้ำตาอุดตัน





ปัญหาตาแฉะในกระต่าย เป็นปัญหาที่สัตวแพทย์สามารถพบได้บ่อย โดยเจ้าของมักจะนำกระต่ายมาหาคุณหมอพร้อมกับอาการตาแดงบวม อักเสบ มีขี้ตาเกรอะกรัง หรือมีน้ำตาเอ่อล้นตลอดเวลา เห็นได้ชัดว่าบริเวณขนรอบ ๆ ดวงตาของเจ้ากระต่ายจะมีคราบติดอยู่ อาจเห็นเป็นคราบสีสนิมหรือสีน้ำตาลอย่างชัดเจนในกระต่ายสีขาว อาการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ ไม่ว่าจะเป็น กระต่ายทานอาหารลดลง ไอ จาม มีน้ำมูกร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุโน้มนำให้เจ้ากระต่ายน้อยเกิดอาการที่เรียกว่า ตาแฉะ ก็เป็นได้
            ก่อนอื่นเรามาแยกสาเหตุของอาการนี้กันก่อนดีกว่า อาการตาแฉะมีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า Epiphora สาเหตุที่โน้มนำทำให้เกิดอาการนี้เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ
1.  มีการอุดตันของท่อน้ำตาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
รูปแสดงท่อน้ำตาซึ่งแสดงตำแหน่งที่มักถูกรากฟันดันทำให้อุดตัน (บริเวณ Proximal,Distal bend)



  • การอักเสบของท่อน้ำตา ซึ่งเรียกทางการแพทย์ว่า Dacyocystitis สาเหตุของการอักเสบเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณท่อน้ำตา หรือเกิดจากการที่มีความผิดปกติของรากฟันที่ยาวผิดรูป หรือยาวมากเกินไปจนไปกดทับท่อน้ำตา จนทำให้ท่อน้ำตาเกิดการอักเสบและอุดตันตามมา
  • เกิดการบวมบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ ท่อน้ำตา จากโรคติดเชื้อ เช่น โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัสอักเสบ
  • เกิดอุบัติเหตุการกระแทกบริเวณกระดูกขากรรไกรบน หรือ Maxilla ทำให้ท่อน้ำตาเกิดการอักเสบ
  • เนื้องอกที่บริเวณส่วนของกระดูกขากรรไกรบน ใบหน้า หรือบริเวณรอบ ๆ ตา ซึ่งมีผลทำให้ท่อน้ำตาถูกกดทับ
2. มีการสร้างน้ำตามากกว่าปกติจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
  • การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจากระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคือง มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพิ่มมากขึ้นในส่วนบริเวณการติดเชื้อ ส่งผลให้มีการสร้างน้ำตาเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค
  • มีสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดการระคายเคือง ซึ่งไปกระตุ้นการสร้างน้ำตาเพิ่มขึ้น
  • เกิดแผลหลุมที่กระจกตา
  • และสาเหตุอื่นๆ
กระจกตาเป็นแผลจากการติดเชื้อ
                โดยอาการโรคตาแฉะนี้จะพบได้ในกระต่ายทุกสายพันธุ์ และทุกช่วงอายุ ซึ่งสาเหตุโน้มนำโรคในแต่ละช่วงอายุก็อาจจะแตกต่างกันไป เช่น อาจพบว่าสาเหตุโน้มนำจากการเกิดเนื้องอกจะพบได้มากกว่าในกระต่ายอายุมาก สาเหตุโน้มนำจากปัญหาความผิดปกติของฟันจะพบบ่อยในกระต่ายที่มีประวัติฟันยาว หรือฟันเจริญผิดรูป ซึ่งปัญหานี้ก็อาจมีสาเหตุโน้มนำมาจากเรื่องอื่น ๆ อีก ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อเกี่ยวกับปัญหาความผิดปกติของฟันกระต่ายในครั้งต่อไป โรคตาแฉะจะพบอาการที่เด่นชัดดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ กระต่ายมีน้ำตาเพิ่มมากกว่าปกติจนเปรอะบริเวณหัวตาและพบว่ามีขี้ตาเพิ่มมากกว่าปกติด้วย
             เมื่อไปหาคุณหมอก็จะทำการวินิจฉัยเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหา คือ
  • ย้อมสีตาเพื่อดูแผลที่กระจกตา โดยใช้สี Fluorescene และตรวจสอบการอุดตันของท่อน้ำตาโดยการใช้ น้ำสะอาดปราศจากเชื้อ หรือ น้ำเกลือ  ล้างเข้าไปในท่อน้ำตา โดยท่อน้ำตาก็คือรูที่อยู่บริเวณเปลือกตาด้านล่าง คุณหมอก็จะสอดท่อขนาดเล็ก ๆ เข้าไปแล้ว flush ล้าง หากท่อน้ำตาของกระต่ายปกติน้ำที่คุณหมอ flush เข้าไปก็จะไหลออกมาทางจมูกเป็นน้ำใส ๆ เหมือนเดิม แต่หากมีการอักเสบก็จะพบว่าน้ำที่ไหลออกมาจากจมูกเป็นสีขาวขุ่น หรือบางตัวอาจจะไม่มีน้ำออกมาทางจมูกได้เลยเนื่องจากเกิดการอุดตันของท่อน้ำตาเรียบร้อยแล้ว
  • ถ่ายภาพรังสีเพื่อดูลักษณะของรากฟันและขากรรไกรเพิ่มเติมหลังจากการ flush ท่อน้ำตา ในกรณีที่คาดว่าสาเหตุโน้มนำมาจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งส่วนนี้อาจต้องมีประวัติจากเจ้าของช่วยเพิ่มเติมในการวินิจฉัย เช่น ทานอาหารลดลง มีอุบัติเหตุ พ่อแม่หรือพี่น้องของเจ้ากระต่ายน้อยเคยมีปัญหาเกี่ยวกับฟันมาก่อน อาจสังเกตอาการอื่น ภายนอกร่วมด้วย เช่น มีการอักเสบบวมบริเวณใบหน้า รอบ ๆ ตา หรือมีฝีเกิดขึ้นบริเวณขากรรไกรด้านบน นอกจากนี้ยังมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในท่อน้ำตาแล้วถ่ายภาพรังสีเพื่อดูลักษณะ และบริเวณของท่อน้ำตาที่อุดตันได้อีกด้วย ซึ่งการวินิจฉัยเพิ่มเติมต่าง ๆ เหล่านี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอและอุปกรณ์ที่มีภายในคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์นั้น ๆ
สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุโน้มนำที่ทำให้เกิดโรค โดยส่วนมากจะทำการรักษาโดย
  • รักษาการอักเสบและการอุดตันของท่อน้ำตารักษาโดยล้างท่อน้ำตาร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบกินและหยอดตา
  • รักษาที่ต้นเหตุของโรค เช่น แผลหลุมรักษาโดยการใช้ยาหลอดตาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ

                  เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ถ้าเราเห็นว่ากระต่ายที่เลี้ยงอยู่ตาแฉะและมีน้ำตาไหล เราควรที่จะพาเค้ามาหาคุณหมอเพื่อทำการหาสาเหตุและแก้ไข เพราะว่าเค้าอาจจะไม่ได้ร้องไห้อย่างที่เจ้าของหลายคนคิด        ถ้าปล่อยเอาไว้ ปัญหาอาจลุกลามจนสุดท้ายที่สุดกระต่ายที่เรารักอาจต้องเสียดวงตาไป 


                                                ด้วยความปรารถนาดี  
                                          น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล 

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รักกระต่ายไม่ถูกทาง..เมื่อต้องซื้อยาคนให้กระต่ายกิน


  สวัสดีครับ เนื่องจาก ช่วงนี้พบคำถามที่เจ้าของมักถามหรือปรึกษาบ่อยๆว่า กระต่ายเป็นหวัด กินยาแก้ไข้เด็กได้มั้ยครับ กระต่ายท้องเสีย กินยาแก้ท้องเสียเด็กได้มั้ย กินเกลือแร่ ยาคูลล์ น้ำหวานหรือน้ำแดงได้มั้ย  วันนี้ผมมีคำตอบมาให้ครับ เรื่องการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม 
กระต่ายเป็นหวัดนั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชนิดหลักๆ ซึ่ง เชื้อโรคเหล่านี้ ที่พบในคนนั้น สามารถ ใช้ยาปฎิชีวนะ ในกลุ่ม penicillins ในการรักษาเบื้องต้นได้ แต่ทราบมั้ยครับว่า ยาในกลุ่มนี้ มีข้อควรระวัง และห้ามใช้ในกระต่าย ครับ ดังนั้นการเลือกยาเอง โดยไม่ปรึกษา สัตวแพทย์ มีโอกาสที่จะทำให้กระต่าย ได้รับยา ที่เกินขนาด หรือยาผิดประเภทได้ ซึ่งถ้า ร้ายแรง อาจจะทำให้กระต่าย มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง เนื่องจากยาจะไปทำลายจุลชีพ ในทางเดินอาการกระต่าย และอาจจะทำให้ถึงตายได้ เลยนะครับ 
funny cute rabbit
กระต่ายท้องเสียนั้น หาซื้อยามาให้เอง หรือให้ยาคนได้มั้ย คำถามนี้ก็ พบบ่อย แต่กระต่ายท้องเสียมีหลายสาเหตุ ครับ อาจจะเกิดจากอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น มีแป้ง เยอะไป ให้ทานแต่ขนม หรือ ไฟเบอร์ ในอาหารไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุ ของท้องเสียได้ครับ แต่ท้องเสียแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฎิชีวนะเลยครับ เพียงแค่ปรับการเลี้ยงดู ปรับอาหารเพียงเท่านั้น ก็จะ หายเองได้  ส่วนในกระต่ายเด็กนั้นมักพบปัญหา เรื่องการติดเชื้อบิด และอาหารไม่เหมาะสม ร่วมกัน ดังนั้น การวินิจฉัย เพื่อหาสาเหต ของโรคสำคัญที่สุดครับ ส่วนยาที่จะให้ ก็ต้องคำนวนให้ตามน้ำหนัก และ ความรุนแรงของโรค ครับ ไม่มีสูตรตายตัวว่าท้องเสียต้องให้ ยาชนิดนี้ อย่างเดียวครับ


น้ำหวาน ยาคูลล์  และเกลือแร่ของคน  กระต่ายทานได้หรือไม่  ถ้าถามว่าทานได้ หรือไม่ คงตอบ ว่า ได้แต่ไม่เหมาะสม และไม่แนะนำครับ ถามว่า ทำไม ในน้ำหวานนั้น มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมปริมาณ มาก การให้น้ำตาล กระต่ายทานนั้นมีผลเสีย มากกว่าผลดีครับ เนื่องจากแบคทีเรียในลำไส้นั้น จะนำน้ำตาลไปใช้ ก่อนที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้หมด จึงทำให้จำนวน แบคทีเรียก่อโรคเพิ่มปริมาณขึ้น ครับ ส่วนยาคูลล์ ก็เป็น ส่วนผสมของนมวัว น้ำตาล และแบคทีเรีย ที่ไม่จำเป็นและ ไม่พบในกระต่ายปกติ ดังนั้นการให้ทานนั้น ประโยชน์ อาจจะไม่มากพอที่จะให้ทานครับ แล้วน้ำเกลือแร่ ของคน นั้น เค้าผลิต มาเพื่อให้ คน ครับ ส่วนประกอบในนั้น จึงไม่เหมาะไม่สมกับกระต่ายมากนัก แต่ถ้ากระต่ายท้องเสียรุนแรง และฉุกเฉิน นั้น สามารถให้เพื่อชดเชยการสูญเสียเกลือแร่ และน้ำ ไปในเบื้องต้นก่อนพามาพบสัตว์เเพทย์ ก่อนได้ครับ 
สุดท้ายอยากจะขอบคุณผู้เลี้ยงทุกท่านที่สละเวลาอ่านบทความนี้จนจบ หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงเริ่มต้น และมวลกระต่ายทั้งหลาย 

ขณะไปเยื่ยมชมบู๊ท ของ Rabbit House ที่งานประชุมวิชาการ ที่ USA 
ด้วยความปรารถนาดี 
.สพ. เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เต่าติดเบ็ด ทำอย่างไรดี ... เมื่อหมอต้อง ผ่าตัดกระดองเต่า






     

 สวัสดีครับ วันนี้มาพบกับหัวข้อเต่าบ้างนะครับ   มีคนบ่นว่าอยากอ่่านเรื่องเต่าบ้าง ก็เลยจัดให้ตามคำขอนะครับ ว่ากันด้วยเรื่อง เต่าติดเบ็ดครับ 
ปกติแล้วเต่าไม่ใช่ปลาครับ ไม่มีคนที่ตั้งใจไปตกเต่าเท่าไปตกปลาหรอกครับ บางคนที่ขี้เกียจก็จะไปหย่อนเบ็ดทิ้งไว้ บางทีไม่หย่อนแค่ตัวเดียวนะครับ เล่นกันเป็น พวง เลยก็มีครับ  แล้วบางทีเต่าก้ไปแย่งอาหารปลาก้อาจจะเกิดอาการโชคร้ายกินเหยื่อที่วางไว้ ทำให้ติดเบ็ดเข้าไปครับ 
แล้วจะพบเจอเต่าที่ติดเบ็ดได้ที่ไหน บางทีเราก็พบได้ตามตลาดสด แถวๆวัดที่มีปล่อยเต่า หรือแถว ชายคลองที่เค้านำเบ็ดมาวางนั่นแหละครับ แล้วบางทีถ้าโชคดีของเต่าก็อาจจะเจอคนใจบุญ ขอซื้อเต่าที่เค้าตกได้นำมาให้สัตวแพทย์รักษานี่แหละครับ 
เต่าแก้มแดงมีสายเบ็ดยื่นออกมาจากปาก
การรักษาทำอย่างไรบ้าง แล้วจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ เอาเต่าใส่กะละมัง ให้มีน้ำเล็กน้อย แล้วรีบพามาพบสัตวแพทย์ครับ ทำเท่านี้จริงๆครับ อย่าพยายามช่วยเต่า โดยดึงเบ็ดออกเองนะครับ เพราะว่าจะยิ่งทำให้เกิดการฝังของเบ็ดแน่นขึ้นไปอีก หรือดึงแรงมากๆอาจจะทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย หรืออันตรายต่อชีวิตเต่าเลยนะครับ  และอีกอย่างคือ อย่าพยามพยามตัดเชือกหรือเอ็นที่ติดกับเบ้ดนะครับ เพราะจะทำให้สัตวแพทย์ ทำงานลำบากยิ่งขึ้นไปอีกเวลาต้องทำการรักษานะครับ คือเจอสภาพใดก็พามาสภาพนั้นเลยนะครับ 
หลังจากพามาพบสัตวแพทย์แล้ว สิ่งที่สัตวแพทย์จะทำก็คือ ทำการถ่ายภาพรังสีครับ โดยจะถ่่ายภาพรังสี 2 ท่า เพื่อประเมินว่าจะทำการรักษาอย่างไร บางทีอาจจะต้องทำการวางยาสลบหรือยาซึม เพื่อ ให้เต่าได้ยืดหัวเต็มที่ครับ 

กำลังจัดท่าเตรียมถ่ายภาพ x-ray 

เบ็ดอยู่ในตำแหน่งบริเวณคอ
เบ็ดอยู่ในตำแหน่งกระเพาะอาหารในเต่าหับ  


        หลังจากได้ภาพรังสีและประเมินแล้ว ถ้าอยู่บริเวณผิวๆ คือปาก อาจจะทำการดึงออกให้โดยจะมีเทคนิคในการดึงเบ็ดออกครับ แต่ถ้าอยู่ลึกบริเวณลำคอ อาจจะต้องทำการผ่าตัด โดยมี 2 เทคนิคที่ทำกันบ่อยๆคือ ดันให้เบ็ดทะลุออกมาแล้วตัดปลายทิ้ง แล้วจึงดึงเบ็ดที่เหลือออก หรือ ว่าอาจจะผ่าตัดกรีดเปิดเข้าไปเพื่อเอาเบ็ดออก ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับสัตวแพทย์เห็นสมควรและความถนัดของสัตวแพทย์แต่ละคนครับ 

เปิดผ่าบริเวณคอเพื่อนำเบ็ดออก
ตำแหน่งที่ยากที่สุดคือ ถ้าเบ็ดเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร  นอกจากเต่าจะเหงื่อตกแล้ว สัตวแพทย์ที่ทำการรักษา อาจจะเหงื่อตกมากกว่าเต่าอีกนะครับ เพราะว่าต้องเอาเบ็ดที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกนี่ไม่ใช้เรื่องง่ายเลยนะครับ  เพราะจะต้องทำการเปิดผ่ากระดองเต่าเข้าไป เพื่อเข้าไปหาตำแหน่งของกระเพาะอาหารซึ่งตำแหน่งของหัวใจของเต่าก็จะขวางการทำงานอีกครับ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ ... แต่เกิดเป็นสัตวแพทย์ต้องอดทนครับ  T-T 
รูปอวัยวะภายในของเต่า

ขั้นตอนการรักษาในเคสนี้ก็คือ วางยาสลบเต่าก่อนครับ โดยวางยาด้วยยาซึมก่อนครับหลังจากนั้นก็วางยาต่อด้วยแก๊สสลบครับ และก็ให้ยาลดปวดเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นขณะผ่าตัดครับ หลังจากหลับดีแล้วเราก็ทำการทำความกระดองส่วนที่จะผ่าตัดครับ โดยการขัดกระดองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อครับ ช่วงขั้นตอนนี้จะสำคัญมากครับ เพราะอาจจะมีเลขขึ้นมาได้!! เอ้ย ไม่ใช่ครับ เพราะจะเป็นการป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปสู่ช่องลำตัวขณะผ่าตัดครับ 

ขณะใช้อุปกรณ์พิเศษเปิดกระดอง 
หลังจากนั้นก็จะต้องเปิดผ่าเข้าไปโดยใช้เครื่องมือ ชนิดต่างๆครับ โดยเราจะเปิดเพียง 3  ด้าน อีกด้านหนึ่งเหลือไว้ให้ติดกับตัว เหมือนบานพับ เพื่อเวลาปิดกลับเข้าไปจะทำให้ทำงานได้สะดวกและแผ่นกระดองที่ผ่าไม่หลุดเข้าไปในช่องท้องครับ 

        หลังจากเราได้ตำแหน่งที่เบ็ดอยู่จากภาพรังสี แล้วก็ทำการเปิดผ่ากระดองเข้าไปครับ และเข้าไปหากระเพาะอาหารของเต่าจากนั้นทำการนำเบ็ดออกจากกระเพาะ แล้วทำการปิดกระดองครับ 
ฟังดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ตอนปิดกระดองนี้ จะต้องใช้ Epoxy-Resin รวมทั้ง fiberglass  ในการปิดกระดอง หรืออาจจะใช้เทคนิคอื่นๆก็ได้ซึ่งก็มีหลายวิธีในการซ่อมกระดอง 
หลังจากเปิดกระดองเป็นรูปบานพับ
               
ขณะนำเบ็ดออกจากตัวเต่า


หลังจากซ่อมกระดองแล้วก็ต้องรอกระดองให้เชื่อมกันโดยใช้เวลาในการหายอย่างน้อย 8-18 เดือน เชียวล่ะครับ นี่ขนาดเป็นแผลผ่าตัดที่สะอาดนะครับ แต่ถ้าเป็นแผลที่เกิดจากขับรถทับกระดองเต่าแตก แล้วต้องซ่อมแซม นี่ไม่อยากจะคิดเลยครับ 
เต่าหับที่ได้รับการรักษาแล้วทำการซ่อมกระดองเรียบร้อย
วันนี้ขอเท่านี้ก่อนนะครับ ใครอยากทราบเรื่องไหนมีอะไรคาใจก็ถามคำถามทิ้งไว้ได้นะครับ แล้วผมจะมาคลายปัญหาคาใจให้นะครับ 
รูปนี้ขณะไปเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับ สัตว์เลื้อยคลานที่ อเมริกาเมื่อ มกราที่ผ่านมา ครับ  ^^ 

                                    ทุกชีวิตเราดูแล
                        น.สพ.เชาวพันธ์  ยินหาญมิ่งมงคล