facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คุณหมอหนูท้อง...เมื่อต้องกลายเป็นหมอตำแยหนูแฮมสเตอร์ ^^

สวัสดีครับ วันนี้มีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกแล้วครับ.. วันนี้ผมเจอเคสเคสนึง เป็นหนูแฮมสเตอร์ อีกแล้วล่ะครับ เค้ามาด้วยอาการปวดเบ่ง เหมือนทำท่าจะเบ่งอึ หรือ เบ่งคลอด มา 3 แล้ว  ซึ่ง เจ้าของไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะสาเหตุอันใด  เลยพามาหาผม ให้ช่วยตรวจดูอาการให้ ..

หนูตัวนี้เป็นเพศเมียครับ ดูภายนอกเหมือนช่องท้องขยายใหญ่กว่าปกติ เลยคลำตรวจช่องท้อง พบเหมือนมีก้อนคล้าย ลูกอยู่ในท้อง เลยขอเจ้าของ  x-ray เพื่อดูขนาดลูก ว่าสามารถ ออกเองได้หรือเปล่า ต้องผ่าคลอดหรือว่า แค่ ฉีดยาช่วยคลอด 

หลังจากรอ x-ray สักพัก ผมก็ไปเตรียมเครื่องมือและผ้าห่มไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความอุ่นขณะผ่าตัด  เพราะคิดว่าน่าจะต้องผ่าตัดแน่ๆ พอผล x-ray ออกมา ดังคาดหมาย ว่ามีปัญหาคลอดยากเนื่องจากลูกตัวใหญ่และวางตัวผิดท่า 

(รูป อาจจะไม่ค่อยชัดเท่าหร่นะครับ แต่พอจะเห็นโครงกระดูกลูกได้และช่องท้องขยายมากครับ )

ก่อนผ่าตัดอย่างที่ทราบกันคือเราต้องการให้ยาลดปวดและยาปฎิชีวนะก่อนผ่าตัด หนูแฮมสเตอร์ หนัก 50 กรัม คำนวนยาที่ต้องฉีดให้ 2 เข็ม ได้ปริมาณยาเท่ากับ 0.002 กับ 0.005 ซีซี !!! ลมแทบจับเลยครับ จะดูดยาอย่างไรดี นั่งคำนวนซักพักก็ไปเตรียมยา โดยดูดยาปริมาณน้อยที่สุดที่ดูดได้คือ 0.01 แล้วผสมน้ำ เป็น สิบเท่า แล้วฉีดยาเข้าไป 0.02  ที่เหลืออีกเข็มก็ทำคล้ายๆกัน โดยมีเครื่องคิดเลข เป็นผู้ช่วย ตอนนี้สมองไม่ค่อยทำงานครับ คิดเลขไม่ค่อยได้ kiss ได้อย่างเดียว ^^ 

หลังจากอผ้าห่มไฟฟ้าร้อนได้ที่ก็วางยาสลบโดยการใช้แก็สสลบ ให้เค้าดม สักพักนึงก็หลับครับ หลังจากนั้นก็โกนขน ตอนโกนขนนี่สำคัญนะครับสมาธิต้องดี มือต้องนิ่ง เพราะหนังเค้าบางมาก พลาดนิดเดียว นี่อาจจะเข้าเนื้อได้เลยครับ  หลังจากโกนขนเสร็จ ก็ทำความสะอาด โดยใช้ผ้าก็อซ ที่นิ่งฆ่าเชื้อแล้ว เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และ แอลกอฮอลล์ ซึ่งห้ามใช้วิธีการพ่น เหมือนในสัตว์อื่นนะครับ เพราะว่าจะทำให้แอลกอฮอล์ไปโดนส่วนอื่นๆของร่างกายซึ่งจะทำให้ สูญเสียความร้อนและทำให้หนูช็อคได้ครับ


ขั้นตอนต่อไปคือ ผ่าตัดครับ อุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นเครื่องมือตาครับ คือเล็กสุดๆ แล้ว แต่ก็ดูค่อนข้างใหญ่สำหรับผ่าหนูแฮมสเตอร์อยู่ดีครับ และขณะเปิดผ่านผนังหน้าท้องเข้าไป สิ่งที่พบก็คือ มีลูกอยู่ในช่องท้องแล้วครับ ... นั่นหมายถึงว่ามดลูกของหนูแฮมตัวนี่แตกออกมาทำให้ ลูกหลุดอยู่ในช่องท้องครับ ซึ่งก็ต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกที่เสียหายออกมาด้วย และลูกที่ตายออกมาด้วย 

เคสนี้ค่อนข้างน่าเสียดายที่ลูกตายหมดแต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่ครับเพราะว่าแม่ปลอดภัยจากการผ่าตัดและฟื้นสลบครับ 
เรามารู้จักแฮมๆกันหน่อยดีมั้ยครับว่าวงจรชีวิตเค้าเป็นยังไงบ้าง 





อายุขัยในกรงเลี้ยง 
1.5-3 ปี
ตั้งท้อง
18 วัน
อุณหภูมิร่างกาย
 38-39.5 องศาเซลเซียส
ปริมาณลูกต่อครอก 
5-9 ตัว
อัตราการหายใจ
35-135 ครั้งต่อนาที
น้ำหนักลูกเมื่อคลอด
2 กรัม
อัตราการเต้นหัวใจ
250-500 ครั้งต่อนาที
หย่านม 
20-25 วัน
ปริมาณเลือดในร่างกาย
8 มิลลิลิตร ต่อ 100 กรัม
ตัวผู้เจริญพันธุ์(ผสมพันธุ์ได้ )
10-14 สัปดาห์
ฟันทั้งหมด 
16  ซี่ 
ตัวเมียเจริญพันธุ์
6-10 สัปดาห์
วงรอบการเป็นสัด 
ทุกๆ  4  วัน !!!




       หนูแฮมสเตอร์ เป็นสัตว์ที่ตั้งท้องได้เร็วมากนะครับ ถ้าผู้เลี้ยงไม่ได้วางแผนการคุมกำเนิดให้ดี เชื่อผมมั้ยครับว่าภายในไม่เกินหกเดือน จะมีลูกหนูให้เลี้ยงเป็นร้อยตัวเลยล่ะครับ 

แผนการคุมกำเนิดหนูสามารถปรึกษาคุณหมอสูตินารีสัตว์แพทย์ได้นะครับ( เรียกใหู้ยาวจริงๆก็สามารถปรักษาสัตว์เเพทย์ผู้ทำงานเกี่ยวกับ exotic pets ได้ครับ ) เชื่อมั้ยครับว่า หนูแฮมสเตอร์ สามารถทำหมันได้นะครับ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ถ้าต้องการคุมกำเนิดแบบถาวรครับ 

เคสนี้ก็เป็นอีกเคสนึงที่ผมได้ผ่าคลอดสัตว์ที่เล็กที่สุดในชีวิต ในอนาคตไม่แน่ใจว่าจะได้ผ่าคลอดสัตว์ชนิดไหนที่เล็กกว่านี้อีก ไหมที่เย็บเชื่อมั้ยครับว่าเล็กกว่าเส้นผมอีกครับ หายใจทีไหมแทบปลิวครับ ต้องกลั้นหายใจเวลาเย็บ เพราะเดี๋ยวหายใจแรงไปไหมจะหายได้ ^^ 

วันนี้พอแค่นี้ก่อนครับ แล้วเจอกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ ช่วงนี้งานเข้าเยอะครับเพราะต้องเตรียมสอน และวันพุธนี่ก็ต้องไปสวนเสือเพื่อไปดูตาเสือกับทีมหมอที่มหิดลอีกครับ...เอาใจช่วยให้ผมได้กลับมาครบ 32 ด้วยนะครับ 33 ก็ไม่เอานะครับ  ไม่อยากมีเขี้ยวเสือเพิ่มมา ^^ 


นี่เป็นแว่นขยายที่ใส่แล้วมึนตึ๊บเลยครับ ... ลองนับดูซิครับว่าผมมีกี่ตา :) 

ปล.ขอให้บ้านเมืองสงบเร็วๆนะครับ จะได้ไปพารากอนกะเค้าซะ

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Help Ham please!! ช่วยหนูด้วย...

        วันนี้มีเคสมาเล่าให้ฟังครับ เป็นหนูแฮมสเตอร์ อายุ น่าจะประมาณ เดือนนิดๆ ครับ น้ำหนัก ก็ไม่เท่าไหร่ แค่ 20 กรัมเองครับ เจ้าของพึ่งได้มาจากตลาดนัด แต่พอเลี้ยงได้ 2 วันก็มีอาการ ท้องเสียถ่ายเหลว หลังจากถ่ายเหลวได้  1 วัน  ก็มีอาการ มีลำไส้โผล่ ออกมาจากก้น...เจ้าของจึงรีบพามาหาผมให้ช่วยรักษา 
พอเปิดกล่องที่เจ้าของใส่กล่องมาเพื่อตรวจร่างกาย เห็นสภาพแล้วค่อนข้างน่าสงสาร หนูแฮมสเตอร์ ครับ เพราะว่า ตัวเล็กนิดเดียวเอง และมีลำไส้โผล่ ออกมาจากก้นด้วย 
          ทำการตรวจร่างกาย ตอนแรกนึกว่าเป็นแค่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโผล่ออกมาเฉยๆ (Rectal prolapse) แต่พอตรวจให้ละเอียดพบว่าเป็นลำไส้เล็ก ที่โผล่ออกมา จากสาเหตุลำไส้กลืนกัน (Intussusception) ซึ่งขั้นตอนการวินิจฉัย ในโรคนี้จะมีทริค คือ ต้องแยกให้ออกว่าเป็นลำไส้ส่วนไหน โดยใช้อุปกรณ์ช่วยครับ อาจจะใช้ แท่งปรอท หรืิอแท่งอะไรก็ได้ที่ไม่คม แหย่ไปข้างๆ ลำไที่โผล่ออกมา เพื่อดูว่าสามารถ แหย่เข้าไปลึกได้แค่ไหน ถ้าเข้าไปได้ลึก ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นอาการ ของภาวะ ลำไส้กลืนกัน 
ทำไมต้องแยกอาการ  2  อาการนี้ออกจากกัน ยัดกลับแล้วเย็บปิดเลยไม่ได้เหรอ .. ตอบแบบฟันธงว่าไม่ได้ครับ เพราะว่าการวินิจฉัย จะเป็นการชี้แนะแนวทางการรักษาครับ โดยถ้าเป็นลำไส้ใหญ่โผล่ออกมา (Rectal prolapses) การรักษาจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน ครับ โดยทำความสะอาดลำไส้ที่เปรอะ และพยายามยัดกลับเข้าไป และเย็บ รั้งรูทวาร ไว้ไม่ให้ลำไส้โผล่ออกมา แต่อุจจาระ สามารถ ออกได้นะครับไม่ใช่เย็บปิดแบบเย็บตายนะครับ  แล้วก็รอให้การอักเสบลดลง ค่อยตัดไหม ครับ 
แต่ถ้าเป็นลำไส้กลืนกัน (Intussusception) การรักษาจะยากกว่ามากครับ เพราะต้องทำการเปิดช่องท้องเข้าไปเพื่อหาตำแหน่งที่ ลำไส้มีความผิดปกติ คือมีการกลืนกันเข้าไป พอนึกภาพการกลืนกันของลำไส้ออกมั้ยครับ คือเหมือนกับลำไ้ส้ส่วนที่ใหญ่กว่าเกิดการ ซ้อนทับไปกับลำไส้ส่วนที่เล็ก ทำให้เกิดการอุดตัน อาหารไม่สามารถผ่านได้ และ สัตว์จะมีอาการปวดท้องอย่างมากครับ  พอเปิดช่องท้องเข้าไปแล้ว เมื่อเจอตำแหน่งก็พยายามแก้ไขโดยการดึงแยกออกจากกัน ให้เหมือนปกติ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็อาจจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เสียหายทิ้งไป และ ทำการตัดต่อลำไส้แทน ... แค่คิดภาพก็ยากแล้วครับ 
ตอนนี้สรุปกับเจ้าของได้แล้วว่า เป็นอะไรแนวทางการรักษาทำได้อย่างไรบ้าง 
  1. อาการที่พบเป็นลำไส้กลืนกัน 
  2. การรักษาต้องผ่าตัดเท่านั้น 
  3. มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูงเนื่องจาก สัตว์ตัวเล็กมาก และค่อนข้างอ่อนเพลีย จากภาวะท้องเสีย แลเสียเลือดจากแผลที่ลำไส้ 
ถ้าคุณผู้อ่านเป็นเจ้าของจะตัดสินใจยังไง...รักษา หรือ ซื้อตัวใหม่ ???   ซื้อตัวใหม่ก็แค่ 80 บาท รักษาผ่าตัด อาจจะแพงกว่าซื้อตัวใหม่ก็จริง แต่ความผูกพันธ์ มันซื้อ(ความรัก)ไม่ได้นะครับ มันไม่ใช่ตัวที่เราเคยเลี้ยง ... 
สรุปเคสนี้ได้ทำการผ่าตัดครับ โดยต้องใช้แว่นขยายช่วยในการผ่าตัด  เพราะว่า ลำไส้น้องหนูเค้าเล็กมากๆ โชคดีที่เคสนี้ไม่ต้องมีการตัดต่อลำไส้ไม่เช่นนั้นคงต้องใช้กล้องจุลทรรศน์มาช่วยขยายแล้วครับ ^^  แว่นขยายที่บอกนี้ไม่ใช่แว่นขยายแบบที่เชอร์ลอคโฮมถือนะครับ มันเป็นแว่นขยายทางการแพทย์ ที่ต้องใส่คล้ายๆแว่นตาน่ะครับ  จากที่ผมต้องใส่แว่นอยู่แล้ว ก็ต้องใส่ซ้อนกันไปอีก จาก  4 ตา ก็กลายเป็น 8 ตา  8 ตาจริงๆ ครับ ไม่ได้นับผิดหรอกครับ ใส่ช่วงแรกนี่แทบมึน .. ก็มันไม่เคยต้องใส่ครับเพราะยังหนุ่มยังแน่นอยู่ครับ ^^ 
การผ่าตัดเป็นไปได้ด้วยดีครับ นับว่าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างพอใจทีเดียวครับ แต่โชคร้ายที่ขณะหนูกำลังจะฟื้นนั้น เกิดภาวะช็อคไป และทำการช่วยชีวิต อย่างเต็มที่แล้วก็ไม่สามารถช่วยได้ ...
หลังจากที่หนูเสียชีวิต เราก็มาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ หลายข้อซึ่งเป็นข้อที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การให้น้ำเกลือ ขณะผ่าตัด เป็นไปไม่ได้ที่จะให้น้ำเกลือ เข้าเส้นเลือดหนูขณะผ่าตัด หรือ รอให้สภาพหนูพร้อมก่อนผ่าตัด ซึ่งในรายนี้ไม่สามารถรอได้ การให้ยาลดปวด และอื่นๆอีก 
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเคสนี้ คือ เมื่อสัตว์มีอาการท้องเสีย อย่านิ่งนอนใจ เพราะเมื่อท้องเสียมากๆ อาจจะเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะในกระต่าย และ ชินชิล่า  อาการท้องเสียนั้นเป็นอาการที่อันตรายมากในลูกสัตว์เพราะเพียงแ่ถายเหลวไม่กี่ครั้งอาจจะทำให้เกิด เพลีย สูญเสีย แร่ธาตุและน้ำได้ครับ เปรียบเป็นตัวเราเอง แค่ท้องเสีย 3 ก็แทบจะคลานออกจากห้องน้ำแล้วครับ ... เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วจะทำให้เรามองเห็นมุมมองอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยมองครับ 

มารู้จัก ตุ๊กแกเสือดาวกันหน่อยดีมั้ยครับ ..Leopard Geckos ..


       สวัสดีครับ วันนี้ ผมมีสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษที่จะมาแนะนำให้้รู้จักกันครับ บางคนก็บอกว่า น่ารัก บางคนก็บอกว่าน่าเกลียด บางคนก็บอกว่า น่ากลัว  สำหรับสุภาพสตรี เกือบทั้งร้อยจะบอกว่า น่ากลัว นั่นก็คือ ตุ๊กแก ครับ แต่ตุ๊กแกที่ผมจะแนะนะฉบับนี้ไม่ใช่ตุ๊กแกบ้านที่เราเจอกันบ่อยๆ ตามฝาบ้าน หรือผนังห้องน้ำหรอกครับ แต่เป็นตุ๊กแกของต่างประเทศที่นำเข้ามาเลี้ยงกัน คือ ตุ๊กแกเสือดาว หรือ Leopard Geckos ครับ ชื่อวิทยาศาสตร์ ของ เจ้าตัวนี้ก็คือ  Eublepharis macularius  ซึ่งถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ ของเจ้าตัวนี้ก็คือ  อาฟานิสถาน  อินเดีย ปากีสถาน  แต่ในปัจจุบันนี้ เราสามารถเพาะพันธุ์ได้เองแล้วครับ โดยเฉพาะในประเทศไทยก็มีคนที่สามารถพาะพันธุ์ ได้เช่นกัน คราวนี้เรามารู้จักวิธีเลี้ยงดู ดูแลกันดีกว่าครับ 
การเลี้ยงดูเริ่มจากการหาที่อยู่อาศัยให้ตุ๊กแกเสือดาว โดยปกติอาจจะใช้เป็น ตู้เลี้ยงปลา ก็ได้โดยให้มีขนาดที่ เพียงพอต่อการใช้ชีวิตซึ่งปกติ ควรให้ตู้มีขนาด 10 gallon หรือใหญ่กว่า  โดยสามารถ เลี้ยงเป็น กลุ่มได้ แต่ในกลุ่มนั้น ควรจะมีตัวผู้เพียงตัวเดียว เพราะเมื่อตัวผู้ โตเต็มที่ จะค่อนข้างก้าวร้าว และห่วงถิ่นอาศัย หรือถ้าไม่เลี้ยงในตู้ปลา ก็อาจจะเลี้ยงโดยใช้กรงได้ โดยมีขนาดที่เเนะนำคือ 36’’x 15’’ x 12 ‘’  ส่วนความสูง อาจจะลดลงมาได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 6’’ และ กรงที่เลี้ยงควรมีการระบายอากาศที่ดี  ส่วนสิ่งปูรอง อาจจะใช้ หนังสือพิมพ์ หรือ กระดาษรองซับ ก็ได้ในกรณีที่ไม่ต้องการความสวยงาม แต่ต้องการเก็บทำความสะอาดง่าย หรืออาจจะใช้ วัสดุจากธรรมชาติ มาปูรองก็ได้ เช่น เปลือกไม้, ซังข้าวโพด หรือ ทราย อาจจะใช้ ทรายสำหรับสัตว์เลื้อยคลาน (ต้องระวังการอุดตันของลำไส้เมื่อสัตว์กินเข้าไป) 
สิ่งที่สำคัญเช่นกันและขาดไม่ได้ก็คือ  hind box หรือ บ้านที่เอาไว้หลบ ควรจะมีเพราะเอาไว้เพื่อให้ตุ๊กแกได้หลบเวลาเครียด หรือพักผ่อน โดยอาจจะต้องมีการเพิ่มความชื้นในกล่องนี้ เพราะเมื่อตุ๊กแกโตถึงขนาดหนึ่ง จะต้องมีการลอกคราบ เพื่อให้ เพื่อให้เกิดการลอกคราบเป็นไปอย่างสมบูรณ์ 
อาหารการกินของพวกตุ๊กแกเสือดาว ส่วนใหญ่ที่ให้มักจะเป็น แมลง หรือ หนอน ต่างๆ ครับ  แต่ก็สามารถฝึกให้ทานอาหารอื่นๆ ได้เช่นกัน สำหรับ คนที่ไม่กล้าให้สัตว์ที่มีชีวิต ก็จะมีอาหารกระป๋อง ที่บรรจุ พวก หนอน จิ้งหรีด ขายครับ  คนเราบางคนยังชอบกินหนอน(รถด่วน) กินตั๊กแตนทอด และอื่นๆ ตุ๊กแก ก็คงอยากจะกินอย่างนั้นบ้าง อย่าไปตั้งแง่รังเกียจว่า กินแต่หนอน เลี้ยงไม่ลงเลยครับ และการให้อาหารที่ดีนั้น ในตุ๊กแกเด็ก อาจจะให้วันเว้นวันได้ครับ ส่วนตัวที่โตเต็มที่สามารถให้ อาทิตย์ละ 2-3  ครั้งได้ครับ และพยายามให้อาหารในจานเท่านั้นเพราะป้องกัน การที่ตุ๊กแกอาจจะกินสิ่งปนเปื้อน หรือสิ่งปูนอน เข้าไปได้ครับ  การเสริมวิตามินนั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยอาจจะเสริม แคลเซี่ยมผง ให้ตุ๊กแกโดยตรง หรือทำการเสริมวิิตามิน ให้โดยผ่านทางเหยื่อก็ได้ครับ โดยให้เหยื่อทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ก่อนจะให้ตุ๊กแกเป็นเวลา 24 ชม เราเรียกวิธีนี้ว่า gut load  
การให้แสงไฟ และความอบอุ่นแก่ สัตว์เลื้อยคลานนั้น  โดยสัตว์เลื้อยคลานนั้นเป็น สัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิสามารถ เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการให้ความอบอุ่นเป็นสิ่งจำเป็นต่อสัตว์เลื้อคลานทั้งหลาย  แต่ตุ๊กแกเสือดาวนั้นต้องการอุณหภูมิประมาณ 30 ° เซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิ ปกติในประเทศไทยอยู่แล้ว ยกเว้นช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิ ในประเทศไทย เกือบจะ 40  ° เซลเซียส  หลักการให้ความอบอุ่นที่ดีนั้น ควรจะให้ความร้อนเข้าที่มุมของตู้ และค่อยๆ ไล่ไปจากร้อนสุด ไปเย็นสุด เพื่อให้สัตว์ได้มีสิทธิ์ ในการเลือก อุณหภูมิ ที่สัตว์นั้นชอบเองซึ่ง ความร้อนที่ว่านี้อาจจะใช้หลอดไฟ แผ่นให้ความร้อน หรือ
อุปกรณ์อื่นๆ ตามสมควร ส่วนแสงไฟและ UVB นั้น อาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่ใน ตุ๊กแก เพราะโดยธรรมชาตินั้น ตุ๊กแกเป็นสัตว์หากินกลางคืนอยู่แล้ว แต่การเพิ่มลดแสงไฟนั้นเพื่อ ให้ ตุ๊กแก ได้อยู่เหมือนในธรรมชาติ ที่มีกลางวันกลางคืน เพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณ ตามธรรมชาติ 
การจับตุ๊กแกเพื่อตรวจหรือนำมาเล่นนั้น ต้องระมัดระวังหาง เพราะถ้าจับแรงเกินไป หรือ เครียด มากเกินไปอาจจะ สลัดหางได้ เหมือนจิ้งจก และหางที่งอกใหม่นั้น จะไม่สวยงามดังเดิม และที่แปลกอีกอย่างคือ ตุ๊กแกเสือดาว ที่เท้าจะไม่เหมือนตุ๊กแกหรือจิ้งจก เพราะปลายนิ้วจะไม่ค่อยมี adhesive lamellae  ทำให้ไม่สามารถเกาะกำแพง หรือ ปืนป่ายได้ดีเหมือนจิ้งจกครับ 
นี่ก็เป็นเกร็ดความรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับ Leopard geckos  ซึ่งจริงๆแล้ว การเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน เป็นการเลี้ยงที่ไม่ต้องยุ่งยากเท่ากับการเลี้ยงสัตว์เลือดอุ่น เช่น สุนัข หรือแมว สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลสัตว์ การเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ 

 ปล.เห็นตุ๊กแกยิ้มมั้ยครับ ^^