facebook

กด Like เป็นกำลังใจให้กับ คลินิกสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษออนไลน์

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระต่ายโดนเสกเข็มเข้าช่องปาก !!! โอ้วแม่เจ้า


        สวัสดีครับ วันนี้มีเคสมาเล่าให้ฟังครับ มีกระต่ายอยู่ตัวหนึ่งเจ้าของพามารักษาด้วยไม่กินอาหาร เหมือนจะอยากกินแต่ไม่กล้ากิน ได้รับการรักษาอาการยังไม่ดีขึ้น เจ้าของจึงพามาเพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุต่อไป 
อาการภายนอกของกระต่ายปกติดีมากเลย มีอาการร่าเริงเป็นปกติดี แต่สิ่งที่สังเกตุได้คือว่า มีน้ำลายไหลเปรอะใต้คางเล็กน้อย ซึ่งอาการดังกล่าวนั้น มีหลายโรคที่พบได้ เช่น ฟันกรามยาว ได้รับสารพิษ เป็น ฮีทสโตรก และอื่นๆ 
ทำการวัดไข้ ตรวจร่างกายภายนอก ไม่พบสิ่งผิดปกติ ทำการ X-ray เพื่ิอดูฟัน และ กะโหลก ว่า เป็นอย่างไรบ้าง 
หลังจากเห็นภาพ x-ray ถึงกับอึ้ง เพราะว่าพบโลหะคล้ายเข็มเย็บผ้า อยู่ในช่องปาก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเข็มนั้นทิ่มลึกลงไปขนาดไหน 
ภาพถ่ายรังสีวิทยา พบเข็มในช่องปากกระต่าย 
พบเข็มในช่องปาก (เริ่มเป็นสนิม)
ดังนั้นจึงตัดสินใจว่าต้องวางยาสลบกระต่าย เพื่อจะตรวจช่องปาก และ ตรวจฟัน พร้อมกันเลย การวางยาสลบในกระต่ายนั้นมีหลายวิธื แต่ ในเคสนี้เราเลือกการวางยาสลบแบบดมยาสลบเพราะจะปลอดภัยที่สุด  
หลังจากวางยาสลบและกระต่ายหลับดีแล้วนั้น ทำการเปิดปากก็พบว่าเข็มไปคาอยู่บริเวณเพดานปากซึ่งยังไม่ได้ทิ่มทะลุเข้าไปมากนัก ถือเป็นความโชคดีของกระต่ายและหมอ ที่ไม่ต้องผ่าตัดและกระต่ายก็ไม่เจ็บตัวด้วย 

 หลังจากเอาออกเข็มออกมาและรอประมาณ 10 นาที กระต่ายก็ฟื้นดี และ กลับไปกินอาหารได้ปกติ 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า กระต่ายกินได้ทุกอย่างแม้กระทั้งเข็มเย็บผ้า เมื่ออ่านบทความนี้จบนี้แล้วอย่าลืม เก็บบ้านให้สะอาดด้วยนะครับ 

ด้วยความปรารถนาดี 

น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล 

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นินทา ไรในหู กระต่าย โดย Dr_Aoy


Rabbit Ear mite (ไรในหู)


       สวัสดีครับห่างหายไปนานกับการอัพบล็อกนะครับ ช่วงที่ผ่านมา มีงานต่างๆเข้ามาค่อนข้างเยอะ ตอนนี้เริ่มว่างขึ้นแล้วครับ เลยมาอัพบล็อกให้หายคิดถึงครับ วันนี้จะมาเล่าเรื่องโรคอยู่โรคหนึ่งที่พบบ่อยมากๆในกระต่ายโรคหนึ่ง นั้นคือ ไร ในหูครับ ซึ่ง ชื่อโรคภาษาไทยเรียกว่า รูในไห .. เอ้ย ไรในหู ครับ ^^  แต่ฝรั่งเค้าเรียก ว่า  Ear mite และชื่อที่นักวิทยาศาสตร์ ตั้งให้คือ  Psoroptes cuniculi


จริงๆแล้วไรในกระต่ายมีหลากหลายชนิดครับ แต่ไรที่เป็นแล้วทำให้กระต่ายรำคาญมาก จนบางที ไม่กิน ไม่นอน เอาแต่สบัดหัว ไปมา ก็คือ ไรในหู ครับ บางคนยังนึกไม่ออกใช่มั้ยครับว่าเป็นยังไง ดูตามรูปข้างล่างครับ  เห็นมั้ยครับ ว่าน่ากลัวขนาดไหน 
หูของกระต่ายที่เต็มไปด้วยตัวไรในหู
คำถามที่พบบ่อยคือ แล้วกระต่ายติดมาจากไหน..ก็ติดมาจากกระต่ายนั่นแหละครับ ตอบอย่างนี้ ไม่ใช่กำปั้นทุบดิน แล้วครับ กำปั้นทุบหน้า(หมอ) แน่ๆเลย   การติดต่อของไรในหู นี้ติดกันได้หลายวิธีครับ  แต่วิธีหลักๆ 2 ข้อคือ 


  1.โดยการสัมผัสกันโดยตรงของกระต่ายครับ  ถ้ากระต่ายตัวที่เป็นโรค เล่นกับตัวที่ไม่เป็นโรค หรือ แม่กระต่ายที่เป็นโรค เลี้ยงลูก ลูกก็มีโอกาสติดสูงมากครับ 

  2.ติดจากสิ่งแวดล้อม  แล้วสิ่งแวดล้อมติดมาจากไหน ก็ติดมาจากกระต่าย แล้วกระต่ายติดมาจากไหน ก็จากสิ่งแวดล้อม  มันเป็นเหมือนวงจรอุบาทว์ครับ  สิ่งแวดล้อมก็คือถ้ากระต่ายเป็นแล้ว สบัดหู เกาหู ก็จะมีตัวไร หลุดออกมา ที่สิ่งแวดล้อม ถ้าเรารักษาแต้ตัวกระต่ายโดยไม่ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมก็มีโอกาสติดโรคซ้ำได้ครับ 

  คยสงสัยกันมั้ยครับว่าไรในหู ทำไมต้องไปอยู่ไปในหู แล้วกินอะไรเป็นอาหาร กินขี้หูรึ ก็ไม่น่าใช่ จริงๆแล้ว ไรพวกนี้จะกิน น้ำเหลือง เป็นอาหารครับ ไรจะกัดและรอกินน้ำเหลือง หลังจากกิน กระต่ายก็จะมีการคัน อักเสบ มากครับ นอกจากจะอาศัยอยู่กินในหูกระต่ายแล้ว ยังผสมพันธุ์กันในรูหูกระต่ายอีก ... ทำไปได้


    สงสัยไรจะนึกว่ารูหูกระต่ายเป็นเรือนหอชั้นดีซะละมั้งครับ นอกจากนี้ตัวไรในหูบางตัว ก็ยังมีการไปฮันนีมูน นอกรูหูอีกนะครับ คือไปที่ ใบหน้า และ ลำตัวก็ได้ ซึ่งเจอได้แต่ไม่บ่อยครับ 

การวินิจฉัย เค้าทำกันยังไง คือถ้าเห็นรอยโรคนี่ก็ 80 %  ไปแล้วครับ เพราะรอยโรคมันจำเพาะจริงๆ แต่ให้ชัวร์ก็ทำการขูดตรวจ เอาขี้หูและคราบสะเก็ดไปส่องตรวจ ก็จะเจอ ครอบครัวตัวไรหูครับ 
ใบหูซึ่งมีไรในหูทำให้ใบหูอักเสบและเจ็บมาก
การรักษา เราสามารถรักษาได้หลายวิธีครับ มีทั้ง ฉีดยา หรือ  หยดยา ครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าฉีดยาก็ ทุกๆ 14 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง หรือ หยดยาก็เช่นเดียวกันครับ ข้อห้ามก็คือ ห้ามแคะแกะเกา เอาคราบในหูออกเป็นอันขาด เพราะกระต่ายจะเจ็บครับ ปล่อยไว้ สัก สองอาทิตย์เดี๋ยวคราบที่หูก็จะหลุด ออกมาเองครับ 

     อาการหลักๆที่มักจะพบได้ก่อนที่กระต่ายจะแสดงอาการมากก็คือ  
1. สบัดหัว 
2. เกาบริเวณหัวหรือหูมากกว่าปกติ  
3.ขนร่วงที่บริเวณใบหูหนึ่งหรือสองข้าง 
4.เจอคราบแดงๆในรูหู
5.กระต่ายหัวเอียง เดินเซ และ มีอาการชัก 

  การรักษาให้หายไม่ยากครับ ถ้าวินิจฉัยถูกต้อง และเจ้าของพากระต่ายมาตามนัดครับ โรคนี้บางทีถ้าตัวไรมีปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นในได้ และอาจจะทำให้เกิดโรคอื่นๆตามมาได้ครับ ถ้าพบอาการดังกล่างอย่างข้างต้น ก็อย่านิ่งนอนใจ รีบพามาพบสัตวแพทย์นะครับ 

 แล้วครั้งหน้าผมจะมานินทาเจ้าตัวไรชนิดอื่นๆให้ฟังใหม่นะครับ 

                     น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล  (หมออ้อย)